สตง. ชำแหละ! งบ 1 พันล้าน นโยบายแจกฟรี ชุดตรวจโควิด ATK ผ่านแอปเป๋าตัง พบข้อจำกัดเพียบ! เฉพาะแจกผ่านแอปชื่อดังกว่า 6.8 ล้านชุด เผย ผู้บริหาร+เจ้าหน้าที่ หน่วยบริการ ผู้ดำเนินการแจก “บ่นอุ๊บ!” เหตุมีความซับซ้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะระบบลงทะเบียน แถมมี “ข้อจำกัด” ในการกำกับติดตามผล เพิ่มภาระงานให้หน่วยบริการ
วันนี้ (14 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดหาชุดตรวจ COVID-19
ประเภท Rapid Antigen หรือ Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง ตามแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2564
ที่แจกให้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ จำนวนไม่เกิน 8.50 ล้านชุด วงเงิน 1,014 ล้านบาท
ภายใต้โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วงเงิน 13,026.12 ล้านบาท ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ พ.ศ. 2563 แผนงานที่ 1 แผนงานย่อยที่ 1.3
โดยเฉพาะการแจกจ่าย ผ่านระบบแอปพลิเคชันเป๋าตัง พบว่า มีปัญหาหรือ ข้อจำกัดของการใช้งานในบางกรณี เช่น โครงการระยะที่ 1 (ก.ค. 2564 - ก.พ.2565) มีการแจกชุดตรวจ ATK ให้แก่ประชาชน รวม 7,998,757 ชุด
“ผ่านเป๋าตัง และอีกหน่วยงาน จำนวน 6,838,301 ชุด หรือคิดเป็นร้อยละ 85.49 ของจำนวนชุดตรวจที่แจกทั้งหมด และได้มีการแจกโดย “ไม่ผ่านแอป” อีก 1,160,456 ชุด หรือ คิดเป็นร้อยละ 14.51 ของจำนวนชุดตรวจที่แจกทั้งหมด”
แสดงให้เห็นว่า การแจกชุดตรวจ ATK ของ หน่วยบริการผ่านแอปพลิเคชัน มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถตอบสนองการแจก ชุดตรวจ ATKให้ประชาชนได้ในบางกรณี
อาทิเช่น กลุ่มประชาชนและกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีความพร้อม ด้านอุปกรณ์โทรศัพท์และไม่มีความเข้าใจในการใข้เทคโนโลยี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และการให้บริการประชาชนในพื้นที่เป็นกลุ่มหรือมีจำนวนมาก
สตง. ระบุว่า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ หน่วยงานระดับเขต 5 แห่ง และหน่วยบริการที่สุ่มตรวจสอบ40 แห่ง ให้ข้อมูลว่า การแจกผ่าน “แอปเป๋าตัง” มีปัญหาหรือข้อจำกัดในการใช้งาน
ในขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าใช้ งานระบบ ทั้งขั้นตอนการแจกชุดตรวจ ATK และขั้นตอนการกำกับ ติดตามการรายงานผลการดำเนินงาน
โดยเฉพาะ ขั้นตอนการลงทะเบียน กลับมีความซับซ้อนและยุ่งยาก มีข้อจำกัดในการเข้าใช้แอป โดยประชาชนบางส่วนไม่มีโทรศัพท์มือถือ แบบสมาร์ทโฟน หรือบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ผู้แจกก็เป็นบุคลากรที่มีอายุค่อนข้างมาก จึงมีข้อจำกัดด้าน การใช้เทคโนโลยี การใช้แอป และอุปกรณ์ที่มีไม่เอื้ออำนวยต่อการใข้งานจึงหาผู้รับมอบหมาย แจกค่อนข้างยาก
รวมถึงความไม่เสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ให้บริการบางแห่ง ทำให้ไม่สามารถ Scan QR Code เพื่อรับบริการชุดตรวจได้
รวมถึง “เชิงรุก” ด้วยการแจกนอกสถานที่ กลับเกิดความล่าช้าในการแจก รวมถึงการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลประชาชน ข้อมูลประเมินความเสี่ยง และข้อมูลการสนับสนุนชุดตรวจ
“แอปพลิเคชันเป๋าตัง กลับมีความยุ่งยาก รวมถึงขั้นตอนการกำกับ ติดตามการรายงานผลการดำเนินงาน ต่อการขอรับชุดตรวจ อย่างไรก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวอาจยังไม่สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามจำนวนชุดตรวจที่แจกให้ประชาชน”
เช่น กรณีของชุดตรวจที่แสดงบน Dashboard เป็นการรวมข้อมูลการแจกชุดตรวจ ของร้านยาสาขา (Chain) ไว้ที่สาขาหลักเพียงแห่งเดียวตามระบบของแอปที่อาศัย เรื่องการเสียภาษีเช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่ง ทำให้ไม่สามารถแสดงผลการแจกชุดตรวจ แยกตามร้านสาขาได้
เช่นเดียวกับกรณี “หน่วยบริการแม่ข่าย” มีข้อจำกัดในการกำกับติดตามผล เนื่องจากแอปฯจะแสดงข้อมูลผลการแจกชุดตรวจทั้งหมด ในภาพรวมซองหน่วยบริการแม่ข่าย แต่ไม่สามารถแสดงจำนวนชุดตรวจ A ที่หน่วยบริการลูกข่ายแจกให้ประชาชน
อีกทั้ง แอปจะแสดงข้อมูลผลการแจกชุดตรวจ เป็นรายวัน หากหน่วยบริการแม่ข่าย จะดำเนินการกำกับติดตามผล ลูกข่ายจะต้องสรุปยอดรายวัน เพื่อรายงานผลต่อหน่วยบริการแม่ข่าย
และหากหน่วยบริการต้องการทราบผลการแจกชุดตรวจสะสมต้องรวมข้อมูลจากยอดผลการแจกรายวันเอง ซึ่งเป็นข้อจำกัด ของแอปและเป็นการเพิ่มภาระงานของหน่วยบริการ
“เช่นเดียวกับการแจกชุดตรวจใน Dashboard ไม่ตรงกับชุดตรวจที่มีการแจกให้ประชาชนจริง เช่นกรณี ที่มีการแจกนักเรียนและประชาชนที่มาขอรับที่หน่วยบริการคนละ 1 ชุด แต่ ในแอปจะแสดงข้อมูลผลการแจกชุดตรวจ จำนวนคนละ 2 ชุดแบบอัตโนมัติ ทำให้จำนวนที่แสดงผลในแอปมากกว่าจำนวนที่แจกจริง”
ล่าสุด สตง. ได้มีข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขแล้วเสร็จ โดยโครงการดังกล่าว เป็นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.).
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารเผยแพร่ กลับพบว่า มีการขีดทับสีดำ ชื่อหน่วยงาน และเจ้าของแอปพลิเคชันเป๋าตัง