xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดตัว "รถฟอกไต" คันแรกของไทย-อาเซียน รุกดูแลผู้ป่วยเดินทางลำบาก ประสบอุบัติภัย นำร่อง อ.หนองเสือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เปิดตัวรถฟอกไตเคลื่อนที่คันแรกในไทยและอาเซียน โดย รพ.นพรัตนฯ ส่งช่วยดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต เมื่อประสบภัยพิบัติ เดินทางลำบาก หรือในถิ่นทรุกันดาร เริ่มนำร่องก่อนพื้นที่หนองเสือ จ.ปทุมธานี เหตุยังไม่มีศูนย์ฟอกไต ก่อนพัฒนารถให้ดียิ่งขึ้น เผยขณะนี้มี 2 เครื่อง รองรับได้ 3 รอบ หวังเป็นต้นแบบเอกชนนำไปพัฒนา



เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่อาคารภูมิจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมเปิด “รถฟอกไตเคลื่อนที่ นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชน” จาก รพ.นพรัตนราชธานี โดย นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบาย สธ.ก็ขยายการให้บริการฟอกไตฟรีให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งปัจจุบัน สถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ต้องล้างไตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สธ. ยึดมั่นดูแลผู้ป่วยและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้วยังเน้นพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เพราะยุคนี้เราจะไม่รอให้ผู้ป่วยเดินมาหา แต่ต้องไปหาผู้ป่วย ที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้ออกรถ Mobile Stroke Unit สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็เอาแนวคิดนี้มาขยายในส่วนของการฟอกไตด้วย

“วันนี้ รพ.นพรัตนฯ มีโมบายยูนิตฟอกไตให้กับผู้ป่วยโรคไต เป็นคันแรกของไทยและอาเซียน แต่นี่ยังเป็นรถต้นแบบ ต้องบริการไปและพัฒนาต่อได้อย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าสูงที่สุด ทั้งจำนวนเตียงให้บริการ หากใส่พื้นที่มากที่สุด ความคุ้มค่าก็มากขึ้น รพ.ต่างๆ ก็ไปลงทุนให้บริการผู้ป่วยโรคไตที่ห่างไกลความเจริญทุรกันดารได้ ถ้าอนาคตประสานงานบริษัทผู้ผลิตตอนนี้ 1 เครื่องต่อ 1 คนไข้ ถ้าเขาเห็นช่องทางแบบนี้อาจไปคิดเครื่องฟอกไตที่เป้นเครื่องใหญ่ให้บริการมากกว่า 1 คนได้ ความคุ้มค่าก็จะเกิดขึ้น" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า บริการตรงนี้เป็นส่วนเสริม เพราะ รพ.ทั่วไปส่วนหใญ่มีศูนย์ฟอกไตอยู่แล้ว สะดวกสบายกว่า เพราะอยู่ในอาคาร แต่นี่เป็นกรณีที่ห่างไกลความเจริญ มีอุปสรรค อุทกภัย อุบัติภัยที่ทำให้เดินทางมาฟอกไตตามหน่วยบริการไม่ได้ ก็เอารถฟอกไตไป ตอนนี้ยังใช้เวลา 1 คน 4 ชั่วโมง จะใช้สูงๆ ก็ไม่ได้ ส่วนที่ตั้งเป้าว่าจะให้มีเขตสุขภาพละ 1 คันก็ต้องทำควบคู่ไป ไม่ใช่ว่ามีศูนย์ฟอกไตให้บริการภายใต้บัตรทอง คนป่วยไม่ค่อยดูแลสุขภาพตัวเอง เราต้องเน้นป้องกันส่งเสริมสุขภาพด้วย คนเจ็บป่วยได้รับการดูแล ถ้าคิดว่ารักษาทุกโรค สะดวกสบายหมด ไม่เสียเงินแล้วไม่ดูแลสุขภาพ ก็จะทำให้สุขภาพแย่ลงไปอีก การให้บิรการไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ต้องรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) 23,414 ราย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 49,609 ราย มีคลินิกให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 1,151 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ส่งผลต่อคุณภาพและความต่อเนื่องในการรักษา รถฟอกไตเคลื่อนที่จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้มากขึ้น โดยภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องฟอกไต 2 เครื่อง ให้บริการได้ 3 รอบต่อวัน มีระบบน้ำและไฟฟ้า ระบบกำจัดน้ำเสียจากการล้างไตที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก มีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 1 คนประจำรถ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตติดตามอาการผู้ป่วยขณะฟอกเลือดผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับ รพ.ทั่วประเทศนำไปใช้บริการต่อไป


นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า รพ.นพรัตนฯ มีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตวันละ 50 ราย รถฟอกไตคันแรกนี้ จะนำร่องให้บริการที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของ รพ.นพรัตนฯ อยู่แล้ว และเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีหน่วยฟอกไต ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทาง จึงมีการนำร่องในพื้นที่ดังกล่าวก่อน

ขณะที่ผู้ป่วยโรคไตของ รพ.นพรัตนฯ 2 ราย คือ น.ส.สายยล ชุมแสง และ น.ส.นันท์ลภัส รังสรรค์ปัญญา กล่าวว่า ตนทั้ง 2 คนเป็นผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน มานานกว่า 10 ปี โดยแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนการฟอกไตด้วยรถโมบาย ตนมองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดเตียงแล้วต้องใช้รถพยาบาลในการเดินทาง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายวันละ 1,600 บาท ดังนั้น ถ้ามีรถฟอกไตไปหาใกล้บ้าน ก็จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มาก โดยรถฟอกไตก็มีความสะดวก เย็นสบายตัว และมีความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยมาก จึงต้องขอบคุณ สธ. ที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผู้ป่วยโรคไต










กำลังโหลดความคิดเห็น