xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตผู้พิพากษา” ชี้ “พิธา” ตามรอย “ธนาธร” ปมหนังสือ 4 เล่ม “สมชาย” จี้ “กกต.” เร่งส่ง “ศาลรธน.” ก่อนเจอ 157

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากแฟ้ม
ตายน้ำตื้น! “อดีตผู้พิพากษา” ชี้ชัด คำร้อง “เรืองไกร” ปมหนังสือ 4 เล่ม หลักฐานมัด “พิธา” ตามรอย “ธนาธร” “สมชาย” เตือน “กกต.” เจอร้องตาม ม.157 หากไม่ส่ง “ศาล รธน.” วินิจฉัย ปม “พิธา” ถือหุ้นสื่อ กรณีเข้าข่ายผิด ม.151

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(9 ก.ค.66) นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังจากที่ส่งหนังสือขอให้ กกต. ตรวจสอบหนังสือ 4 เล่ม ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ ไปแล้วนั้น

…..ปรากฏว่า มีหลายคนหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นผ่านทางโลกออนไลน์ไปต่าง ๆ นานา ซึ่งน่าจะมาจากความไม่มีความรู้ แต่อยากแสดงความเห็น จนอาจทำให้เนื้อหาในคำร้องถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย …..ดังนั้น เพื่อให้คำร้องมีความชัดเจนขึ้น จึงได้ทำหนังสือขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อ กกต. ดังต่อไปนี้

ภาพ นายชูชาติ ศรีแสง จากแฟ้ม
…..ข้อ 1. พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้บางส่วนดังนี้ …..มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ “หนังสือพิมพ์” หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน “ผู้พิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์”

…..ข้อ 2. พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญเคยนำมาใช้วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ด้วย เช่น คำวินิจฉัยที่ 14/2562 เป็นต้น

…..ข้อ 3. หนังสือทั้ง 4 เล่ม ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “หนังสือพิมพ์” ซึ่งหมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทํานองเดียวกัน

…..ข้อ 4. ดังนั้น การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้เขียนด้วยตัวเองหรือร่วมกับผู้เขียนอื่น รวมทั้งเป็นสำนักพิมพ์ด้วยนั้น ย่อมจะทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายเป็น “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” ตามความในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4

…..ข้อ 5. ทั้งนี้ ได้แนบสำเนาเอกสารการสืบค้นข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ เกี่ยวกับหนังสือของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาประกอบการตรวจสอบเพิ่มเติม ด้วยแล้ว

…..กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ อันเนื่องมาจากเหตุที่นายธนาธร รุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191,200,000 บาท สาธารณชนทราบเพราะนายธนาธรไปพูดที่สโมสรผู้ข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. และ กกต.ไต่สวนแล้วยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พรรคอนาคตใหม่จึงถูกยุบเพราะการเปิดเผยของนายธนาธรเอง

…..กรณีของนายพิธาที่นายเรืองไกรไปร้องต่อ กกต. ในเรื่องนี้ถ้าหากกกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธาสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) เพราะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 98 (3) คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

…..นายพิธาและผู้สนับสนุนนายพิธาก็ยอมรับว่า เหตุเกิดเพราะนายพิธาเปิดเผยชื่อหนังสือที่ตนเขียนและพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของตนเองไปในบัญชีรายการทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งๆ ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งรายละเอียดดังกล่าวเลย

…..ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?”

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุกส่วนตัว ระบุว่า

“ #เตือนความจำ

#กกตมีหน้าที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

#แม้อาจลืมม.151 แต่ต้องไม่ลืมม.157

ขอหยิบยกกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง

มาเตือนสติอีกครั้งพร้อมฝากความห่วงใยไปยังกกต .ว่า

ตามที่กกต ได้ใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา151 ด้วยเหตุรู้อยู่แล้วว่า นายพิธาไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืน มีโทษจำคุก-ปรับ-

ตัดสิทธิ 20 ปี โดยถือว่าเรื่องนี้กกต.เป็นเจ้าภาพเองนั้น

คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.มีหน้าที่และอำนาจ

ควรต้องเร่งพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคท้าย ว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติส.ส. เพราะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3)เรื่องถือหุ้นสื่อมวลชน และอื่นๆ

อันจะเป็นการขาดคุณสมบัติแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีตามมาตรา88 ,89, 160 ด้วยหรือไม่

บัดนี้เวลาล่วงเลยมานานมากแล้ว

กกต.สมควรชี้แจงให้ทราบผลสรุปของคณะทำงานและมติกกต.ในเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าหากกกต.มีมติว่า ขาดคุณสมบัติส.ส. และรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นความผิดตามมาตรา151 ด้วย

สมควรที่กกต .จะได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามแนวทางเดิมที่เคยดำเนินคดีนายธนาธร กรณีถือหุ้นสื่อ คือ

1)ขอให้วินิจฉัยว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติ ส.ส. ตามมาตรา 98(3)

2)ขอให้วินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติผู้ที่สภาจะพิจารณาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 89 160 98(3) ด้วยหรือไม่

3)ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

จึงเรียนมาด้วยความห่วงใยและความปรารถนาดี ว่า หากกกต.ปล่อยเรื่องนี้ล่าช้าเนิ่นนานวันไป

อาจมีบุคคลไปกล่าวโทษร้องทุกข์ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น