xs
xsm
sm
md
lg

“4 กสทช.” จวก “ประธาน กสทช.” อุ้ม “ไตรรัตน์” เข้าข่ายผิด ม.157 ปูด “สรณ” ส่อตกเก้าอี้ หลังสารภาพยังรับจ๊อบตรวจคนไข้อยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“4 กสทช.” ร่อนบันทึกฯ จี้ “ประธาน กสทช.” เซ็นปลด “ไตรรัตน์” หวั่นใช้อำนาจรักษาการเลขาฯ ไม่ชอบ ลั่นไม่ขอรับผิดด้วย ชี้ ดื้อดึงเข้าข่ายผิด ม.157 แฉร่วมลงมติตั้งรักษาการเลขาฯคนใหม่ด้วย ก่อนมายึกยักภายหลัง ระบุ ปธ.ไร้อำนาจ แค่ต้องลงนามตามมติเสียงข้างมาก สวด “เลขาฯ ปธ.” ออฟไซด์ทำบอร์ด-หน่วยงานเสียหาย สั่งสอบเท็จจริง เผย จ้อสื่อสารภาพยังตรวจคนไข้อยู่ อาจขัด พ.ร.บ.กสทช. ที่ให้ทำงานเต็มเวลา

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ร่วมกันลงนามบันทึกเลขที่ สทช.1006/129 ลงวันที่ 3 ก.ค. 66 เรื่อง ความเห็นประกอบรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 วันจันทร์ที่ 26 มิ.ย. 66 ถึงเลขาธิการ กสทช.

โดยสาระสำคัญเป็นการนำส่งความเห็นประกอบการพิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 13/2566 วันที่
9 มิ.ย. 66 ของ กสทช.ทั้ง 4 รายข้างต้น ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.66 และขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการบันทึกไว้ในหมายเหตุท้ายมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2566 ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย และการไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 กรณีที่มติ กสทช.เสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนตัว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งที่ประชุม กสทช.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัย นายไตรรัตน์ กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช.เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ในการประชุมคราวเดียวกัน และเห็นชอบให้แต่งตั้ง ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

โดยบันทึกข้อความดังกล่าวได้ยืนยันว่า มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (พ.ร.บ.กสทช.) ประกอบระเบียบการประชุม กสทช.ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. 2555 โดยเป็นมติที่ประชุมเสียงข้างมาก และไม่ปรากฏว่ามีกรรมการ กสทช. ท่านใดทักท้วงหรือคัดค้านในขณะนั้นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ประธาน กสทช. ก็ได้ร่วมพิจารณาลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง ผศ.ภูมิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อีกด้วย

“เมื่อปรากฎมติที่ประชุมเป็นเสียงข้างมาก ประธาน กสทช. ในฐานะประธานขององค์กรกลุ่มที่เป็นผู้แทนและมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการให้มติที่ประชุมนั้น มีผลในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยจะต้องเคารพในมติที่ประชุมเสียงข้างมาก และต้องถือปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. ดังกล่าวตามอำนาจ และหน้าที่ที่กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้” บันทึกข้อความ ระบุ

บันทึกข้อความยังได้หยิบยกมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.กสทช. ที่บัญญัติให้กรรมการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมระบุว่า การที่ประธาน กสทช. ยังคงไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช. นอกจากจะเป็นกรณีที่ กสทช. ไม่ปฏิบัติตามมติเสียเองแล้วยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ตามพ พ.ร.บ.กสทช. และระเบียบการประชุมฯ และยังเข้าข่ายจะมีลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมของ กสทช. และเข้าข่ายเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกด้วย

ส่วนประเด็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.นั้น บันทึกข้อความ รบุว่า เมื่อมติการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีการรับรองมติที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว นายไตรรัตน์ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งให้ ผศ.ภูมิศิษฐ์ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.และเสนอต่อประธาน กสทช. ลงนามแต่งตั้ง และจะต้องจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ แต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่ง จึงเป็นเหตุให้ นายไตรรัตน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างว่า ประธาน กสทช. ยังไม่ลงนามในคำสั่ง ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของ นายไตรรัตน์ นั้น กสทช. 4 รายข้างต้น จะไม่ขอยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และหากในภายภาคหน้าเกิดข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ก็จะไม่ขอร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการกระทำนั้น ๆ และจะขอดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป

“กรณีที่ประธาน กสทช.กล่าวว่า “กสทช. แต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของประธาน กสทช.” ดังนั้น การแต่งตั้ง
ดังกล่าวจึงมิใช่อำนาจของประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียวตามที่ประธาน กสทช. ได้กล่าวมาโดยตลอด แต่การแต่งตั้งโดยการออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นเพียงการจัดทำเอกสารในทางธุรการ เพื่อให้การออกคำสั่งทางปกครองมีความชัดเจนเท่านั้น” บันทึกข้อความ ระบุ

บันทึกข้อความ ยังได้ระบุถึงประเด็นการออกข่าวประชาสัมพันธ์ของ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 ด้วยว่า เป็นการกล่าวในลักษณะที่ให้ร้ายสำนักงาน กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. ซึ่งในคราวประชุมครั้งที่ 14/2566 ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณาและสอบถามไปยังประธาน กสทช. ซึ่งประธาน กสทช.ได้กล่าวเพียง “”รับทราบ” เท่านั้น ดังนั้น การกระทำของ พ.ต.อ.ประเวศน์ จึงเป็นการดำเนินการ โดยพลการปราศจากการสั่งการจากประธาน กสทช. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง และเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากอำนาจ และหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ และยังถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงเห็นควรให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแล้วรายงานให้ที่ประชุม กสทช. ทราบโดยเร่งด่วน

ในช่วงท้ายของบันทึกข้อความยังได้กล่าวถึงกรณีที่ ประธาน กสทซ. ให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 มิ.ย. 66 ในหัวข้อ “... หมอสรณ เปิดใจทำงาน ๑ ปี นั่งเก้าอี้ประธาน กสทช. ...” โดยมีเนื้อความในข่าวว่า “สุดท้ายกับคำถามเบาๆ มานั่งเป็นประธาน กสทช. ยังรักษาคนไข้อยู่หรือไม่ ? “นพ.สรณ” บอกว่าไม่ได้ “จับมีดผ่าตัด” โรคหัวใจมา 9 เดือน แล้ว ส่วนการตรวจคนไข้ก็จะใช้เวลาหยุดราชการ เสาร์-อาทิตย์ แต่ไม่รับคนไข้ใหม่ เป็นการให้คำปรึกษารักษาคนไข้เก่าที่รักษากันมา 20-30 ปี เท่านั้น ซึ่งประธาน กสทช. ยอมรับในที่ประชุมว่า ได้ให้ข่าวนี้จริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจชื่อดัง ยอมรับว่า ยังคงตรวจคนไข้ในระหว่างที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน กสทช.แล้วนั้น จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจขัดกับบทบัญญัติมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.กสทช.ที่กำหนดว่า “ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา” หรือไม่ เพราะปัจจุบันก็ยังปรากฎชื่อ ศ.คลินิก นพ.สรณ ในตารางออกตรวจของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่ประชุมได้มีมติ 4:2:1 ให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาเลขาธิการ กสทช. ให้ปฏิบัติหน้าที่เพียงรองเลขาธิการ พร้อมให้ตั้งคณะกรรรมการสอบวินัย โดย 4 เสียงข้างมาก ได้แก่ รศ.ดร.สมภพ, รศ.ดร.ศุภัช, ศ.ดร.พิรงรอง และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ งดออกเสียง ส่วน พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ลงมติไม่เห็นด้วย.










กำลังโหลดความคิดเห็น