วัดอาการธุรกิจโทรคมนาคมไทยครึ่งปีแรก พบอาการหนักน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็น กสทช.ที่คาดว่าอาจจะงัดข้อกันจนครบวาระในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่อาจเกิดซูเปอร์ไต้ฝุ่นเอาคืน กสทช.บางคนที่ลุแก่อำนาจ โอเปอเรเตอร์บางรายที่เปลี่ยนท่าทีจากมิตรกลายเป็นแค่คนรู้จักที่หยิบยื่นคุกให้ผู้บริหาร nt ด้วยสัญญาเช่าเสาโทรคมล่วงหน้า 5 ปี แต่กดราคาเหลือครึ่งเดียว ขณะที่ nt ปีนี้คาดขาดทุน 8 พันล้านบาท จมดิ่งไม่เห็นอนาคตกับคลื่น 700 MHz ที่หากทำได้ดีจริงคงไม่แบ่งเซ็งลี้ไปครึ่งหนึ่ง ในยามที่ผู้บริหารไม่ละทิ้ง DNA ดั้งเดิมสนใจแต่ทำโครงการซื้อของหวังคอมมิชชันมากกว่าเดินหน้าทำธุรกิจ พร้อมแฉบิ๊กดีอีเอส อ้างชื่อประธานบอร์ด nt สั่งยกเรื่อง MA เน็ตประชารัฐให้เอกชน
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าสถานการณ์โทรคมนาคมไทยในช่วงนี้ เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะเหลวไหล เละเทะ หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทั้งองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. โอเปอเรเตอร์ภาคเอกชน หน่วยงานสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ สุดท้ายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็อยู่ในถ้วยโจ๊กรวมมิตรนี้ด้วยเช่นกัน
เริ่มตั้งแต่ กสทช.ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ากระบวนการสรรหาที่ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้แทนจากศาลฎีกา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. สตง. ธนาคารแห่งประเทศไทย ศาลปกครอง ล้มเหลวน่าผิดหวัง บนความคาดหวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่จากหน่วยงานเหล่านี้น่าจะมีวิจารณญาณ คุณธรรมที่สูงส่งเพียงพอที่จะพิจารณาเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยมเข้ามากำกับดูแลธุรกิจแสนล้านอย่างธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจกระจายเสียงและธุรกิจโทรทัศน์ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าได้แค่เป็นคนของใครเท่านั้น
เพราะสุดยอดผลงานประจักษ์แจ้งในช่วงปีแรกของการทำงานก็มีแค่การทะเลาะเบาะแว้ง ปล่อยข่าวแว้งกัดกัน ไม่เข้าใจการทำงานเป็นทีมในรูปคณะกรรมการ การไม่เข้าใจกฎระเบียบการทำงานอย่างถ่องแท้ เหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังก่อตัวเป็นพายุระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่น่าจะรุนแรงแถวซอยสายลม อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช.ที่บอร์ดประชุมลงมติปลดจากรักษาการ พร้อมทั้งตั้งรักษาการเลขาธิการคนใหม่ แต่คล้อยหลังไม่กี่วัน เลขานุการประจำประธาน กสทช.ได้ออกหนังสือชี้แจงดุเดือดว่าข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสน เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงาน เกิดการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา อีกทั้งเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับคำสั่งโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่แท้จริงในการออกคำสั่งแต่งตั้งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และอำนาจในการสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย หากปล่อยให้เกิดกระทำการโดยพลการโดยไม่คำนึงถึงกฎ กติกา มารยาท ความหลงผิดในอำนาจหน้าที่เยี่ยงนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้สำนักงาน กสทช.เสียหาย เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ในที่สุด
สิ่งที่น่าสนใจคือคนที่เล่นเกมรับอาจทนไม่ไหวหันมาเล่นเกมรุกใส่บ้าง ประเด็นที่รุนแรงพอที่จะเล่นได้ถึงระดับ ม.157 น่าจะเป็นเรื่องที่มีกรรมการ กสทช.บางคนแก้ไขมติบอร์ด โดยเข้าไปแก้ไขตามที่ตัวเองต้องการ ทั้งใส่เพิ่ม ขยายรายละเอียด เปลี่ยนแปลงกันสนุกมือชนิดที่ไม่มีการพูดในที่ประชุม แต่กลับมีการเขียนบันทึกเป็นมติบอร์ดไว้ หลักฐานมีปรากฏชัดเจน เพราะทุกการประชุมต้องมีการอัดเสียงการประชุมไว้ เพียงแค่เอาที่บันทึกเสียงไว้มาเทียบกับมติบอร์ดที่เขียน ก็พอจะรู้ว่าใครเป็นมือแก้มติบอร์ด ซึ่งแว่วว่าทุกอย่างถูกเก็บไว้อย่างดีรอเพียงเวลาที่จะหยิบมาใช้เอาคืน
ในยามที่บอร์ด กสทช.ไร้เอกภาพ ย่อมเป็นเรื่องหนักใจของภาคเอกชนในการเลือกลู่วิ่ง พิสูจน์ได้จากดีลอภิมหาควบรวมที่ผ่านมา กว่าจะโหวตผ่านต้องออกแรงทำจนคนแก่เหนื่อยมาก ที่น่าสนุกคือเมื่อถูกร้องเรียน เรื่องถึงหน่วยงานตรวจสอบ การลงมติไม่ว่าจะแค่รับทราบให้ควบรวม การไม่ออกความเห็น รวมทั้งการไม่อนุมัติให้ควบรวม ลูกเต๋าทั้ง 3 หน้าที่ออกเป็นการประพฤติชอบทั้งสิ้น ทำให้เห็นเรี่ยวแรงมหาศาลที่คอยผลักดันจากมือที่มองไม่เห็น
ส่วนกรณีปัจจุบัน หลังมีการฟ้องร้อง กสทช.ต่อศาลปกครองสูงสุดเรื่องมติดีลอภิมหาควบรวม ซึ่งศาลประทับรับฟ้องแล้ว ท่าทีของประธาน กสทช.ก็ชัดเจนว่าในเมื่อมีเรื่องฟ้องร้องค้างคาอยู่ก็จนใจที่จะพิจารณาดีลการซื้อกิจการครั้งใหม่นี้ได้ หมายถึงคงใช้เวลาเต็มเหนี่ยว 5 เดือนหรือมากกว่านั้น แต่หากมีแรงหรือมือที่มองไม่เห็นเพียบพร้อมทั้งอำนาจและเงินตรา ก็อาจทำให้เร็วกว่านั้นได้
ไม่เพียงเท่านั้น ความน่าสนใจของโอเปอเรเตอร์รายนี้ยังมีเรื่องการท้าทายรางวัลสารพัดภิบาล ไม่ว่าบรรษัทภิบาล ธรรมาภิบาล รางวัลเชิดชูเกียรติทั้งหลายทั้งปวงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะแค่การเปลี่ยนหน้าเล่นประเด็นเดียวเท่านั้น จากเดิมที่กลุ่มบริษัทนี้พยายามถีบตัวออกจากการเมือง ทำถึงกับเปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อเป็นมืออาชีพพยายามแสดงความโปร่งใส ไว้ใจได้ ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่แค่ชั่วข้ามคืนกลายเป็นว่าการเมืองเริ่มเข้ามายุ่งกับธุรกิจ ในยามที่เทคโนโลยีสามารถติดตามสถานที่อยู่ รวมทั้งดักฟังได้แล้วจะเชื่อใจไว้ใจกันได้อย่างไร เพียงแต่ทุกอย่างยังไม่ถูกขยายผลต่อยอด เพราะหน้าที่เปลี่ยนมาเล่นนั้นใหญ่โตโอฬารในแผ่นดินมาก
แต่นิสัยที่รับไม่ได้คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากที่เคยคิดว่าเริ่มต้นจากผู้ให้กำเนิด ก็พร้อมช่วยเหลือและเติบโตไปด้วยกัน แต่ล่าสุดหน้าใหม่ที่เข้ามาเล่นพยายามให้มีการต่อสัญญาการเช่าเสาโทรคมนาคมจำนวนนับหมื่นต้นในช่วงนี้ ในราคาที่ลดลงครึ่งหนึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งๆ ที่สัญญาเดิมจะหมดในปี 2571 ด้วยซ้ำ การแสดงความหวังดีประสงค์ร้ายเช่นนี้ เหมือนหยิบยื่นกุญแจคุกให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ ไขเอาตัวเองเข้าคุก ซึ่งผิดจากเจตนาประสงค์ดีที่เคยมีให้องค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติในอดีต
เห็นได้จากวิกฤตคลื่น 700 MHz ที่ nt หน้ามืดประมูลมาสูงกว่าราคาโอเปอเรเตอร์รายอื่นเท่าตัว ก็มาช่วยแบ่งเบาภาระไปครึ่งหนึ่ง จากที่ nt จ่ายไปแล้ว 3 ปีๆ ละ 3,300 ล้านบาท โดยคนที่ได้คลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ยอมช่วยจ่ายค่าคลื่นให้ครึ่งหนึ่งในปีที่ 3 ประมาณ 1,650 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้มีการใช้งาน เพราะ กสทช.ยังไม่ได้อนุมัติการเซ็งลี้คลื่นความถี่ในครั้งนี้
ความน่าสนใจของคลื่น 700 MHz อยู่ที่หาก nt มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีแนวทางสร้างรายได้ มีโอกาสแข่งขันในตลาด คงไม่แบ่งคลื่นครึ่งหนึ่งให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเพื่อมาแข่งขันกับตัวเอง แต่เพราะความเป็นไปได้ทางธุรกิจมันไม่มี เหมือนกอดคลื่นไว้เฉยๆ 3 ปีเสียเงินไปเกือบหมื่นล้าน โดยไม่มีรายได้กลับมาเลย
nt ก็เป็นองค์กรที่สุมปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่าง CAT กับ TOT เหมือนน้ำกับน้ำมันที่ต้องแยกชั้นกันอยู่ แต่คุณลักษณะเด่นของผู้บริหารก็ยังอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นความต้องการซื้อของมากกว่าการทำธุรกิจหารายได้ ทั้งนี้บอร์ด nt มีแนวคิดเรื่องคลื่น 700 MHz อยู่ 3 เรื่องคือ 1.ขายบันเดิลบริการรวมกับโทรศัพท์พื้นฐาน ที่ปัจจุบันบริษัท ห้าง ร้าน จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งหากพ่วงโทรศัพท์มือถือเข้าไปด้วย โอกาสทำเงินก็มากขึ้น 2.เจรจากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อนำซิมของ nt ไปใช้กับสมาร์ทมิเตอริ่ง จำนวน 30 ล้านเครื่อง 3.ใช้กับอุปกรณ์ IoT ต่างๆอย่างในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเรื่องสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง
‘ให้แนวทางทุกอย่างไปหมดแล้ว แต่ผู้บริหารสนใจแต่ซื้ออุปกรณ์ไม่สนใจธุรกิจหรือการทำตลาด ซึ่งปีนี้คาดว่า nt น่าจะขาดทุน 8 พันล้านบาท’ แหล่งข่าวในบอร์ด nt กล่าวกลั้วหัวเราะแบบปลงกับผู้บริหารที่สนใจแต่คอมมิชชันการซื้อของ
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารรายใหม่ที่เติบโตมาถึงระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็สนใจแต่เรื่องซื้อของ เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทุกเดือนด้วยเงินสปอนเซอร์จากบริษัทที่ตัวเองซื้อของมา เส้นใหญ่โตจนถึงกับวางตัวไปเรียน วปอ.รุ่นถัดไป
‘อยากรู้ว่าใครไปถามปลัดดีอีเอสดูก็ได้ ขนาดปลัดเรียกให้ไปพบยังคอยหลบหน้า ส่งแต่ลูกน้องไปตลอด’
สำหรับดีอีเอสเองก็มีเรื่องงามไส้ไม่แพ้กัน เพราะโครงการเน็ตประชารัฐนั้น nt เป็นผู้ดำเนินงานซึ่งทั่วไปแล้วคนทำโครงการมักจะเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาหรือ MA (Maintenance Agreement) แต่ไม่ใช่ในยุคนี้ เมื่อบิ๊กดีอีเอส ออกคำสั่งด้วยวาจาไปยังบางคนที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เจ้าของงบประมาณเพื่อเลือกบริษัทเอกชนเป็นคนมาทำ MA แทน nt ที่สำคัญบิ๊กดีอีเอส ‘แมน’ มากอ้างว่าเป็นความต้องการของประธานบอร์ด nt จนภายหลังต้องมีการพิสูจน์กันต่อหน้า จึงได้รู้ว่าใครเป็นคนสั่งกันแน่
‘เรื่อง MA ทาง nt ส่งหนังสือไปดีอีเอส แจ้งแล้วว่างาน MA ควรเป็นของ nt มากกว่าการเปิดประมูลทั่วไป’