xs
xsm
sm
md
lg

“ศปปส.-รามคำแหงรักสถาบัน” บุกสภา ยื่นเรียกร้อง ส.ว.ไม่โหวตนายกฯ บ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศปปส.-รามคำแหงรักสถาบัน” บุกสภายื่นหนังสือส.ว. ชี้ เพื่อสกัดกั้นความพยายามที่จะบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ



วันนี้ (4 ก.คง) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ก.ค. 2566 ที่รัฐสภากลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (ส.ว.) และนายสมชาย แสวงการ ประธานกมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเรียกร้องสมาชิกวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันหลักของชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีการอภิปรายของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ในเวทีเสวนาหัวข้อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "รอบนี้ฟ้าใหม่ ไม่ว่าประธานสภาก็คงจะไม่ใช่คนเดิม รวมถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและเราจะได้เฉลิมฉลองวันที่ 24 มิ.ย. ในฐานะวันชาติด้วยกัน" ซึ่งได้สร้างความไม่สบายใจให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขซึ่งนำไปสู่การล้มล้าง,สร้างความแตกแยก ให้เกิดกับบ้านเมืองและคนในชาติ

โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ศปปส.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคต่อแนวคิดดังกล่าว โดยมีผู้แทนของพรรคก้าวไกลมารับหนังสือ และชี้แจงว่า นั่นเป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัว และพรรคมีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคำชี้แจงดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาการอภิปรายที่เชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกล ประกอบกับนายรังสิมันต์เปันสมาชิกระดับแกนนำที่ย่อมรู้ทิศทางยุทธศาสตร์ระดับเชิงลึก ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของแกนนำพรรคคนอื่นๆ ที่อ้างวาทกรรมปฏิรูปสถาบัน และสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112

ดังนั้น ศปปส.จึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 ท่านที่จะมีส่วนร่วมในการออกเสียงให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้น ตลอดถึงเหตุผลอื่นๆที่สมาชิกวุฒิสภาย่อมสามารถเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้งกว่าประชาชนทั่วไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นกลไกอันเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อสกัดกั้นความพยายามที่จะบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ เพื่อหยุดวิกฤตความขัดแย้งของคนในชาติโดยอาศัยกระบวนการรัฐสภา โปรดพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบต่อบุคคลมีมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันหลักของชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ตัวแทนศปปส. กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลแล้วยังยืนยันจะยกเลิก แก้ไข หรือแตะต้องม.112 อุปสรรคของพรรคก้าวไกล ก็คือศปปส.

ต่อมาในเวลา 11.15 น. กลุ่มรามคำแหงรักสถาบัน ได้ยื่นหนังสือต่อสืบเนื่องจากกรณีของนายรังสิมันต์เดียวกันข้างต้น เพื่อขอให้สมาชิกวุฒิสภายึดหลักปกป้องสถาบันในการออกเสียงให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 ประชาชนคาดหวังว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารประเทศจะเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถบริหารประเทศเพื่อสร้างการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชาติ ยืนอยู่บนเวที โลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่การณ์กลับปรากฏว่า นักการเมือง พรรคการเมืองบางพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลกลับยังคงสร้างประเด็นที่ส่อไปในทางสร้างความแตกแยกของคนในชาติด้อยค่าสถาบันหลักจากนโยบายแก้ไขมาตรา 112

โดยกลุ่มรามคำแหงรักสถาบัน เห็นว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่ได้แสดงท่าทีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องดังกล่าว อ้างแต่เพียงจุดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุข และยังมีพฤติกรรมปกป้องสมาชิกพรรครายคังกล่าว พวกเราจึงขอเรียกร้องตวุฒิสภา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการออกเสียงให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้โปรดนำพฤติกรรมของสมาชิก และแกนนำพรรคก้าวไกลมาประกอบการตัดสินใจออกเสียงบนพื้นฐานของการยุติความขัดแย้งสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น