เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาตามรูปการณ์ เชื่อว่า ในที่สุดแล้ว พรรคก้าวไกล มีโอกาสสูงมาก ถึงมากที่สุด ที่มีอันต้องชวดทั้งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภา รวมไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในบั้นปลายแล้วทั้งสองตำแหน่งสำคัญดังกล่าว จะตกเป็นของพรรคเพื่อไทย หรือไม่ก็พรรคเพื่อไทย จะเป็นคนกำหนดนั่นเอง
กลายเป็นว่า เวลานี้ความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ทั้ง 8 พรรค ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ กำลังเริ่มเข้าสู่บรรยากาศที่พรรคเพื่อไทย กำลังเล่นบท “ตัวแปร” อย่างจริงจัง และกำลังเข้มข้นขึ้นทุกที และยังมีความหมายที่ว่า พรรคก้าวไกล จะขาดพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว “ขาดพรรคก้าวไกลได้” ซึ่งในบั้นปลายแล้ว มีแนวโน้มสูง ว่า ก้าวไกลจะชวดทั้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ที่ต้องบอกว่า พรรคก้าวไกลจะชวดทั้งสองตำแหน่งดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเอง “สุดโต่ง” ขึงตึงเกินไป มีการ “ตีกรอบ” ตัวเองให้อยู่ในวงจำกัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “อ้างอุดมการณ์” หากต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็ต้องไม่ประนีประนอม เป็นต้น แต่ในทางการเมืองนั้น บางครั้ง “อุดมคติ” หรือความคิด ความฝัน อาจใช้ไม่ได้จริง และไม่ใช่ประเภทโลกสวย อย่างแน่นอน
หากวกกลับมาโฟกัสเฉพาะสองพรรค คือ ก้าวไกลและเพื่อไทยแล้ว มันก็ยิ่งเห็นภาพชัดว่า แท้ที่จริงแล้วข้างในนั้นมัน “เป็นคู่แข่งกัน” ส่วนคำพูดเรื่อง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยกันนั้น มันแค่วาทกรรมสวยๆ เท่ๆ เท่านั้น และต้องยอมรับความจริงว่า ผลจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคที่แพ้การเลือกตั้งแบบเจ็บปวดสาหัสที่สุด ก็คือ เพื่อไทย นั่นเอง ที่พ่ายแพ้ให้กับก้าวไกล แพ้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกือบสูญพันธุ์ เชียงใหม่ และภาคเหนือก็แพ้ อีสานก็สูญเสียพื้นที่สำคัญไปมากมาย เรียกว่าเพื่อไทยไม่เคยแพ้ใครแบบนี้มาก่อนก็แล้วกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และพยายามผูกมัดเพื่อไทยเอาไว้ตั้งแต่แรก หากมองในเชิงยุทธศาสตร์แล้วทางหนึ่งเหมือนกับว่าต้อง “กอดคอกับฝ่ายประชาธิปไตย” แต่ในทางลึก มันก็อดมองได้เหมือนกันว่าเป็น “ล็อกคอเพื่อไทย” เอาไว้ตลอดเวลา ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งตัวเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก หากไม่มีเพื่อไทยมาร่วม
ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่ต้อง “เก๋าเกม” อยู่แล้ว ย่อมรู้อยู่เต็มอก แต่ก็ต้องเล่นไป “ตามน้ำ” หลังทราบผลการนับคะแนน คงไม่อยากไปขวางทางน้ำเชี่ยวในเวลานั้น แต่ด้วยจำนวนตัวเลขที่ห่างกันไม่มาก ก็ย่อมรับรู้ถึงบทบาทการเป็น “ตัวแปร” ที่สำคัญที่สุด สำหรับอนาคตของรัฐบาลผสมของพรรคก้าวไกล และอนาคตของเพื่อไทยเองในวันข้างหน้า
จนกระทั่งมาได้จังหวะ “ปมถือหุ้นสื่อ” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ชัดเจนและงวดเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะจับอาการหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน เร็วเกินคาด ซึ่งนั่นเท่ากับว่า กระบวนการตรวจสอบเริ่มเดินหน้าเต็มกำลังแล้ว
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ก็ได้รับรู้ว่า ตำแหน่งว่าที่นายกฯของ นายพิธา นั้น “ไม่ชัวร์” นอกเหนือจากต้องใช้เสียงโหวตจากส.ว.ถึง 63 เสียงเพื่อให้ได้ครบจำนวน 376 เสียง ของสมาชิกรัฐสภา และที่สำคัญก็คือ พรรคก้าวไกล ไม่มีแคนดิเดตนายกฯ สำรองเอาไว้เลย เพราะเสนอชื่อตามบัญชีแค่ นายพิธา เพียงคนเดียวเท่านั้น
และนี่คือ คำตอบในใจของพรรคเพื่อไทยที่ว่า ทำไมถึงต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯเอาไว้ในมือ เพื่อประกันความมั่นคงให้กับตัวเอง และการเป็นพรรคตัวแปร ที่จะต้องกำหนดเกม นอกเหนือจากข้ออ้างที่ว่า พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว ตำแหน่งประธานสภา ก็ต้องเป็นของเพื่อไทยบ้าง เพราะเสียงไม่ได้ชนะขาดอะไรประมาณนั้น
แต่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เชื่อว่า นับจากนี้จะได้เห็นการ “รุกกลับ” อย่างหนักแน่น อย่างเห็นได้ชัดของพรรคเพื่อไทย หลังจากที่มั่นใจแล้วว่า ตัวเองกำลังกุมความได้เปรียบตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาไปจนถึงจะกลายเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” แทนก้าวไกล ในลำดับถัดไปอีกด้วย โดยจะมีการ “เปลี่ยนสูตร” หรือ“เพิ่มสูตร” เข้ามาอีกหรือไม่ค่อยมาว่ากันในวันข้างหน้า และถึงตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าก้าวไกล จะเลือกหนทางอยู่ร่วมกันต่อ หรือถอยไปเป็นฝ่ายค้าน
สำหรับ ท่าทีที่เห็นชัดของพรรคเพื่อไทย ก็คือ เดินหน้าต่อรองเก้าอี้ประธานสภา ล่าสุด แม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ร่วมออกโรงกดดัน และวิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดและแนวทางของพรรคก้าวไกล อย่างชัดเจน โดยสนับสนุนให้เพื่อไทย ได้ตำแหน่งประธานสภา
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สภาศักดิ์สิทธิ์ ตนอยู่มา 40 ปี ตั้งแต่ปี 26 เข้าสภาตื่นเต้นทุกครั้ง ตนรักสภา ชอบสภา ชอบอภิปราย แต่การเมืองวันนี้ มันแปลกๆ บางคนบอกคนรุ่นเก่าเหมือนยาหมดอายุ ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ ถามว่า ถ้าคนรุ่นเก่ามีสติปัญญาความรู้ดีกว่าคนรุ่นใหม่ วันนี้ก็ต้องผสมผสาน อย่าดูแคลนกัน ทุกคนมีจิตสำนึก รักบ้าน รักเมือง เหมือนกัน ไม่ใช่ใครไปแตะอะไรทัวร์ลงๆ นี่ไม่ใช้ลักษณะการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ การอภิปรายในสภา
“ขอยกตัวอย่างกรณีพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล มีตัวแทน 8 พรรค หารือกันจะเลือกใครเป็นประธานสภา เพื่อไทย ก็มีตัวแทนไปแต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจ ต้องกลับมาถามผู้แทนของพรรค ไม่ใช่ไปกัน 7-8 คน แล้วไปตกลง เพราะประธานสภา ต้องเป็นกลาง ต้องเป็นประธานของทุกพรรคการเมือง ในสภา และกรณีที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ ขอยืนยันว่า จะขอให้ทั้ง 8 คน จาก 8 พรรค กลับไปที่พรรคตัวเองก่อนแล้วค่อยวิจารณ์” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
เมื่อถามว่า หากประธานสภา เป็นของพรรคก้าวไกล มองอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนต้องทำตามมติพรรค ถ้าเพื่อไทย มีมติไม่เห็นด้วยตนก็ไม่เห็นด้วย หากเห็นด้วย ก็ขัดมติพรรคไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีรัฐบาลไหนตั้งง่าย ยากทั้งนั้น ไปร้องเพลง ดีดสีตีเป่ามันไม่ใช่ ยังรายงานตัว ส.ส.กันยังไม่ครบเลย นี่เพิ่งเริ่มต้น จะมีรัฐบาล มีตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ ขอให้ใจเย็น คนหนุ่มใจร้อน แต่คนแก่ก็คิดเป็น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวบางพรรคเตรียมเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธานสภา ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ขอพูด ให้ประชุมพรรคก่อน
เมื่อถามว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนจะเห็นพรรคอื่นเป็นนายกฯ ได้อย่างไร ต้องเป็นคนเพื่อไทย และเล่นการเมืองต้องเล่นให้เป็น ถ้าตนเห็นนายพิธา ดีกว่าคนเพื่อไทย ก็ไม่ใช่เฉลิม ที่ตนพูดไม่กลัวทัวร์ลง นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ครั้งนี้เป็นการตั้งรัฐบาลครั้งแรก ที่มีเอ็มโอยู คนรุ่นใหม่จะใหม่อะไรหนักหนา คนรุ่นเก่ามันจะเก่าอะไรหนักหนา มันอยู่ที่ความรู้
และด้วยท่าทีแบบนี้ ล่าสุด ทำให้ นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรรมการที่ไปเจรจาจะต้องขอให้พรรคก้าวไกล “ลดเงื่อนไขลง” บางอย่าง เป็นการส่งสัญญาณชัดเจน
ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว เริ่มมองเห็นแล้วว่า พรรคก้าวไกล มีโอกาสสูงที่จะชวดทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภา น่าจะตกเป็นของพรรคเพื่อไทย ในที่สุด ขณะที่ตำแหน่งนายกฯ ก็อาจเป็นของเพื่อไทย หรือไม่ก็จะเป็นคนกำหนดตัวบุคคล ซึ่งจะมาจากพรรคไหนค่อยมาว่ากันอีกที ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลอยมาทันที !!