xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเวทีเสวนาอาชญากรรมไซเบอร์ กระตุ้นสังคมรู้เท่าทันมิจฉาชีพ พบข้อมูลประชาชนโดนหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการมากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเวทีเสวนาอาชญากรรมไซเบอร์ กระตุ้นสังคมรู้เท่าทันมิจฉาชีพ พบข้อมูลประชาชนโดนหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการมากที่สุด


วันนี้ (14 มิ.ย.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดเสวนาถกประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Place of Justice) กระตุ้นการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการป้องกัน-ตอบโต้ ภัยคุกคามใกล้ตัวพี่น้องประชาชน โดย นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดหนักของปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การดูดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร การหลอกลวงออนไลน์ผ่านคอลเซ็นเตอร์หลอกให้กู้เงิน แต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุน และหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน ข่าวปลอม (Fake news) เว็บสินค้าออนไลน์ เว็บพนันออนไลน์ เว็บสื่อลามกออนไลน์ และเว็บหาคู่ออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการเพื่อป้องปราม ยับยั้ง และเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนหยิบยกปัญหากรณีความปลอดภัยทางไซเบอร์ เรื่องการพนันออนไลน์และการหลอกลวงประชาชนผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องร้องเรียน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือในการดำเนินงานหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามจากอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมสื่อสารไปยังประชาชนให้รับทราบถึงมาตรการป้องกัน ตอบโต้ และการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้บูรณการการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีการแจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com จำนวน 296,243 เรื่อง แจ้งความผ่านสายด่วน 1441 จำนวน 107,778 สาย และแจ้งความที่หน่วยงาน จำนวน 40,310 เรื่อง โดย 5 อันดับความเสียหายสูงสุดนั้นเป็นกรณีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการไม่เป็นขบวนการมากที่สุด จำนวน 100,694 คดี รองลงมาเป็นกรณีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 36,896 คดี กรณีหลอกให้กู้เงิน จำนวน 33,517 คดี กรณีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 22,740 คดี และกรณีข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 20,474 คดี




กำลังโหลดความคิดเห็น