MGR Online - ยอดนักสอยคิวดัง“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” แชร์ประสบการณ์ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นตำรวจ หลอกโอนเงิน สูญกว่า 3.2 ล้านบาท ด้านตำรวจขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว 1 ราย ออกหมายเรียกแก๊งบัญชีม้าอีก 10 ราย
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แถลงกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้ นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย โอนเงินให้จำนวน 3.2 ล้านบาท
พล.ต.อ.สมพงษ์ เปิดเผยว่า พฤติการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายนี้ ได้แอบอ้างเป็นตำรวจ โทรศัพท์ไปข่มขู่นายวัฒนา ว่า ไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพคนที่หนึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย โทรศัพท์ไปหานายวัฒนา ว่า ค้างชำระบัตรเครดิต หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแสดงว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปใช้ จึงแนะนำให้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ จากนั้นได้ต่อสายโทรศัพท์ให้พูดคุยกับมิจฉาชีพคนที่ 2 แอบอ้างเป็น พ.ต.อ.เสฏฐวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ เนื่องจากเห็นว่าไม่สะดวกเดินทางไปแจ้งความ ระหว่างนั้น มิจฉาชีพคนที่สามโดยใช้บัญชีแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ สภ.เมืองนครสวรรค์ แจ้งมาว่า นายวัฒนา เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและฟอกเงิน ให้ส่งบัญชีธนาคารของนายวัฒนา มาให้ตรวจสอบ หากต้องการพิสูจน์ความจริงต้องโอนเงินมาตรวจสอบเส้นทางการเงิน และถ้าตรวจสอบแล้วไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะโอนเงินคืนให้ ทำให้ซึ่งนายวัฒนาหลงเชื่อ จึงโอนเงินจากบัญชีธนาคาร 5 บัญชีจำนวน 10 ครั้ง เป็นเงินกว่า 3.2 ล้านบาท ให้มิจฉาชีพไป
นายวัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก็ได้รับรู้ข่าวสารว่า มีมิจฉาชีพก่อเหตุหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองก็พยายามระมัดระวังตัวมาโดยตลอด แต่ก็มาพลาดจนได้ จึงอยากให้ตำรวจติดตามจับกุมมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์มาลงโทษให้ได้ เพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุกับคนอื่นอีก และอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้มีผู้อื่นตกเป็นเหยื่ออีก
ด้าน พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีของนายวัฒนา ว่า พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ได้ขอศาลอนุมัติหมายจับ 1 คน เป็นบัญชีม้าแถวที่ 1 ที่มีพฤติการณ์หลบหนี และออกหมายเรียกผู้ต้องหาซึ่งเป็นบัญชีม้าแถวที่ 2-4 จำนวน 10 คน โดยอายัดบัญชีทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 26 และ 29 พ.ค.นี้
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานในปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14- 20 พ.ค.ที่ผ่านมา มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 5 รูปแบบ ที่มากที่สุดคือ คดีหลอกลวงซื้อขาย สินค้าหรือบริการ รองลงมาคือ หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ, หลอกลวงให้กู้เงิน, ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน และหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ตามลำดับลงมา
ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งความ 4,461 คดี ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 314 คดี มีมูลค่าความเสียหายกว่า 473 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นกว่า 46 ล้านบาท
โดยมีการระงับการทำธรุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ห้วงวันที่ 13 มี.ค.- 5 พ.ค. มีคดีทั้งหมด 30,439 คดี, ขอระงับอายัดบัญชีจำนวน 16,597 บัญชี, ทำเรื่องขออายัดเงิน ไปทั้งหมด 685,310,290 บาท สามารถอายัดเงินได้ 92,132,049 บาท
ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ในห้วงวันที่ 17 มี.ค. - 17 เม.ย. ที่ผ่านมา มีการออกหมายจับไป 264 คดี, จับกุมได้ 170 คดี ได้ตัวผู้ต้องหา 137 คน