xs
xsm
sm
md
lg

รับรอง “พิธา” เป็น ส.ส.นับหนึ่งวิบากกรรม !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา


เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้ว สำหรับกรณีถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงล่าสุดที่เขาสถาปนาตัวเองเป็น “ว่าที่” นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว จะไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ ได้นั่งเก้าอี้ตามปรารถนา หรือไม่ เพราะดูแล้วอุปสรรคขวากหนามช่างมากมายนัก ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดล้วนมาจากตัวเอง หรือความไม่รอบคอบทางกฎหมายทั้งสิ้น ทั้งที่มีตัวอย่างใกล้ตัวให้เห็น และตัวเองก็ได้รับผลอันนั้นมาแล้ว


เพราะหากโฟกัสเฉพาะเรื่องถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็หนักหนาสาหัส แม้ว่าล่าสุดมีการเผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ระบุว่า ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว เป็นการหักล้างคำร้องที่มีก่อนหน้านี้ที่ยืนยันว่าประกอบกิจการสื่อ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า “มีพิรุธ” อาจมีการตัดต่อ อะไรประมาณนั้น โดยทางฝ่ายพรรคก้าวไกล ก็แถลงรุกทันทีว่า นี่คือ “ทฤษฎีสมคบคิด” เพื่อหวังสกัดกั้นไม่ให้ นายพิธา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เคยร้องเรียนเรื่องดังกล่าวกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขาดคุณสมบัติในการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. และมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กรณีถือหุ้นสื่อโดยแนบหลักฐานยืนยันว่า ไอทีวี ยังไม่ได้แจ้งยกเลิกกิจการ ยังมีรายงานงบดุลประจำปี รวมไปถึงรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีการซักถามและมีคำตอบเรื่องการประกอบกิจการสื่อ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นายเรืองไกร ได้เปิดหลักฐานการโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โดยเป็นหลักฐานจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ นายพิธา โอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ให้กับ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย ในวันที่ 25 พ.ค. 66 รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อ ของบริษัท ไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 ก.พ. 66 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ เพื่อเตือนความจำนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไหร่ ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อ ที่ตนนำมาเปิดเผยเป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ

“เอกสารสำคัญที่ควรจะดู ก็คือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุมที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มี.ค. 66 ระบุว่า 24 ก.พ. 66 เขาทำธุรกิจสื่อแล้วตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวีแล้ว เขาทำสื่ออื่นแล้ว” นายเรืองไกร ระบุ

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) กำหนดเพียงห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ และการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตก 3 คำร้อง ถือหุ้นสื่อของนายพิธา ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส. นายพิธา มีสถานะเป็น ส.ส.แล้ว ตนก็จะยื่นร้องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งยิ่งจะเป็นผลดี เพราะเรื่องจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีความแน่นอนกว่าการไปศาลฎีกา

“ที่มีการเปิดคลิปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นออกมากันในขณะนี้ ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง เพราะกฎหมายเขียนว่า ห้ามเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนใดๆ พยานหลักฐานที่ควรไปดู คือ 1. นายพิธา ถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตามรายงานการประชุม 2. ทำธุรกิจสื่อมวลชนใดๆ ก็ไปดูวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท และดูจากหมายเหตุงบการเงิน ส่วนไปประชุมผู้ถือหุ้น ถามตอบแล้วแล้วจดถูกผิดบ้าง ก็เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นกับบริษัท ซึ่งเมื่อมีการจดผิด ผู้ถือหุ้นรายนี้ ก็ต้องไปแจ้งให้มีการแก้ไขรายงานการประชุม ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่าเขาจดผิด เพราะมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง มันจะเกี่ยวอะไร ก็เหมือนกับการประชุมกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรที่หลังการประชุม ก็จะให้สมาชิกมาตรวจดูว่ามีการจดรายงานการประชุมถูกต้อง หรือไม่ ถ้าจดผิดก็ให้ไปแก้ไขก็เท่านั้นเอง” นายเรืองไกร ระบุ

เมื่อถามว่า ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยในขณะนี้เหมือนต้องการชี้ว่า บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว การจะทำสื่อหรือไม่จะต้องดูที่รายได้ ดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งศาลก็ไม่ได้ดูที่รายงานผู้ถือหุ้นที่มีการถามตอบกัน

ส่วนที่ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่า บริษัท ไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการที่นายพิธา ถือหุ้นแล้วไม่ผิด เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งนายพิธา ก็มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี 42,000 หุ้น โดยไม่ได้มีการระบุท้ายการถือหุ้นว่าเป็นผู้จัดการมรดก และหมายเหตุงบการเงินปี 2566 ของบริษัทก็ระบุว่าบริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่นนอกจากสถานีไอทีวีแล้ว เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้

หลักฐานดังกล่าวของ นายเรืองไกร เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า นายพิธา โอนหุ้นไอทีวีให้กับทายาท เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และรายงานงบการเงินของไอทีวี ที่ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำสื่อใหม่ เป็น “สื่อโฆษณา” มาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 66 แล้ว

เอาเป็นว่า นี่เป็นหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำมายืนยัน และหักล้างกัน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องไปถึงศาล อาจเป็นศาลอาญา และศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายเรืองไกร ย้ำว่า หลังจากที่มีการรับรอง ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้ว เขาก็จะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยต่อไป

เมื่อพูดถึงเรื่องการรับรอง ส.ส.แล้ว ก็มีความเคลื่อนไหวจาก กกต.ที่ระบุว่า จะเริ่มพิจารณาการรับรอง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน นี้ คาดว่า จะทยอยประกาศรับรองได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ หรือภายในวันที่ 28 มิถุนายน เนื่องจากมี กกต.คนหนึ่งคือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี เหตุผลที่ต้องรับรองไปก่อนให้ครบ 500 คน เนื่องจากการพิจารณาสอบสวนคำร้องทุจริต พิจารณาไม่ทันกรอบ 60 วัน จึงต้องปล่อยไปก่อนแล้วสอยภายหลัง

หากเป็นไปตามนี้ก็ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้รับการรับรองเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ภายในเดือนนี้ ขณะเดียวกัน หากเป็นดังนี้ เขาก็จะเข้าสู่โหมด “วิบากกรรม” อย่างแท้จริง เรียกว่า “นับหนึ่งทันที” เพราะเมื่อวันใดก็ตามที่เป็นส.ส. อย่างแรกที่เปิดรอไว้อยู่แล้ว ก็คือ คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจาก กกต.ที่โยนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และ สองบรรดา “นักร้อง” ทั้งหลายรอเสียบอยู่แล้ว ที่ชัดเจนและประกาศล่วงหน้า ก็คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

จะว่าไปแล้ว นี่คือ “ด่านหิน” ด่านที่สอง เพราะด่านแรกก็คือ การโหวตนายกฯ ที่ต้องมี ส.ว.ยกมือโหวตด้วย ต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 64 เสียง ถือว่ายากมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่ามีเงื่อนไขเรื่อง มาตรา 112 และมีอีกหลายเรื่องที่รอให้ตรวจสอบ กลายเป็นเรื่องให้คลุมเครือน่าสงสัยจนไม่น่าไว้วางใจโหวตให้ เป็นต้น

เอาเป็นว่า มีหลายเรื่องราวที่รอการตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย คุณสมบัติที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า แต่เขาก็เดินหลงเข้ามาแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รอบคอบ หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเขาได้การรับรองเป็น ส.ส.เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่ “วิบากกรรม” เพราะจะเริ่มนับหนึ่งทันที !!



กำลังโหลดความคิดเห็น