เมืองไทย 360 องศา
ตลอดช่วงเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา รวมไปก่อนช่วงก่อนหน้านี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯของพรรค พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะชี้แจง และตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นการถือหุ้นไอทีวี ที่ถูกระบุว่า เป็นการ “ถือหุ้นสื่อ” อันเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้โพสต์ข้อความผ่านทางสื่อโซเชียลฯ ระบุว่า ได้โอนหุ้นดังกล่าวไปให้ทายาทคนอื่นเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ยังเปรียบเทียบกรณีคดีของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก ที่ถือหุ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มาเป็นตัวอย่างอีกด้วย โดยเป็นลักษณะของการ “ข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ” ไว้ล่วงหน้า ว่า ต้องตีความกฎหมายอย่างเป็นเอกภาพ เป็นสากล และในตอนท้ายยังอ้างว่านี่คือแผนทำลายทางการเมือง มีเจตนาขัดขวางฉันทานุมัติของประชาชนจำนวน 14 ล้านเสียง
ข้อความของ นายพิธา ที่โพสต์ค่อนข้างยาว เพื่อชี้แจงกรณีถือหุ้นดังกล่าว ว่า ตั้งแต่ วันที่ 7 มี.ค. 50 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ส่งผลให้สัญญาร่วมงานฯ สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ ITV ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน
สำหรับหุ้นตัวนี้ เป็นหนึ่งในหุ้นอันเป็นกองมรดกของคุณพ่อ ที่ผมถือครองแทนทายาทอื่น ซึ่งมีหุ้นหลายตัวที่ถูกเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ผมได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น
จนเมื่อผมเข้ามาทำงานการเมืองในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย จนเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมและเพื่อน ส.ส. พรรคก้าวไกล ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภา อย่างเต็มกำลัง และในการเลือกตั้งล่าสุดนี้ ผมได้ลงสมัครเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล นำพาพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง 14 พ.ค.จนได้ความไว้วางใจจากประชาชนสูงที่สุด กว่า 14 ล้านเสียง
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้การตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. ขณะเดียวกันในทางข้อเท็จจริง เป็นที่ประจักษ์ว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญา วันที่ 7 มี.ค.50 มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน กลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชน เพื่อนำมาใช้เล่นงานผม
ผมจะยกข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV เช่น ปีบัญชี 61-62 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้ง ที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” ปีบัญชี 63-64 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” ส่วนในปีบัญชี 65 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งนี้ เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงิน ไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชีปี 65 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พ.ค. 66 (ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 4 วัน)
แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงิน และข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน มีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธ ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้ง ที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้
และในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 66 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางราย ว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่ ?
ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อ ไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชน ให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น
ผมขอเรียนทุกท่านว่า การต่อสู้คดีนี้ เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยศาลรธน. ประกอบคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี การพิจารณาว่าบริษัทใดประกอบกิจการสื่อหรือไม่ และบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อ หรือไม่ ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายองค์ประกอบ ในชั้นนี้ หากศาล รธน. เดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนี้ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า ผมไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด
กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด
หลังจากนี้ ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ที่มี “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ ในที่สุด
ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว
ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากข้อความดังกล่าวของ นายพิธา ย่อมมีเจตนาสื่อให้เห็นชัดเจนว่า ปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อแล้ว แต่มีความพยายามที่จะฟื้นให้กลับกลายเป็นสื่ออีกครั้ง เพื่อต้องการเล่นงานเขา และที่สำคัญก็คือ ในข้อความของ นายพิธา มีเจตนาในเชิง “ข่มขู่” หรือ กดดันศาลฯ ให้ตีความกฎหมายให้เป็นเอกภาพ โดยยกเอากรณีของ ศาลฎีกา ที่วินิจฉัยคืนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ให้กับ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ กรณีถือหุ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ที่ต่อมาบริษัทลูกไปทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อ)
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ นายพิธา แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเมื่อถูกร้องเรียนใหม่ๆ โดยครั้งนั้นเขามั่นใจว่า ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เคยปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพรรคมาแล้ว ตั้งแต่ในช่วงปี 62 ได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ขณะเดียวกัน กลับมีอีกรายหนึ่งซึ่งเคยเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เคยถือหุ้นไอทีวี ในลักษณะเดียวกัน และได้รับคำแนะนำทางกฎหมายของพรรคในแบบเดียวกัน แต่เมื่อเกิดกรณีการถือหุ้นสื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรธน.ตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี ได้ดำเนินการขายหุ้นออกไปตั้งแต่นั้นมา
หากจับอาการของนายพิธา ครั้งนี้เหมือนกับว่า เขาเริ่มกังวล และนั่งไม่ติดแล้ว เพราะกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และอีกหลายคน ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบในเรื่องการถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่า ยังไม่ได้จดแจ้งเลิกกิจการ และในคำวินิจฉัยในอดีต เทียบเคียงได้ว่า การถือหุ้นสื่อไม่ว่าจะกี่หุ้นก็ตาม ถือว่า ขาดคุณสมบัติในการรับสมัคร ส.ส. อีกทั้งในข้อบังคับพรรคก้าวไกล ยังบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคที่ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามอีกด้วย ซึ่งมันจะเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ ตามมามากมาย เอาเป็นว่าหลายฝ่ายฟันธงไปในทางเดียวกันว่า “รอดยาก”
จะด้วยสาเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ นายพิธา ต้องดิ้นอีกเฮือก ทั้งออกมาในลักษณะข่มขู่ ล่วงหน้า โดยเฉพาะการอ้าง 14 ล้านเสียง มาเป็นหลังพิง เป็นการ “ก่อม็อบ” เพื่อกดดันศาลฯหรือไม่ ขณะเดียวกัน หากสังเกตท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคเพื่อไทย กลับมีท่าทีเฉยเมยผิดสังเกต “ไม่มีการออกแอกชัน” ให้เห็นเลย เหมือนกับเป็นการ“เล่นตามน้ำ” ปล่อยให้ไปสุดทาง หากไปไม่รอด ค่อยมาว่ากันใหม่ ใช่หรือเปล่า !!