xs
xsm
sm
md
lg

หวานเจี๊ยบ! “คมสัน” ชี้ “พิธา” ผ่าน ม.151 สบาย หลัง กกต.เตะเผือกร้อน ส่งศาลตัดสินแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.นิติศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ “พิธา” ผ่าน ม.151 สบาย หลัง กกต.ตีตก 3 คำร้อง ไม่ยอมใช้อำนาจวินิจฉัยเอง แต่เตะเผือกร้อนออก ส่งให้ศาลตัดสินแทน ระบุ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.จำกัด เพราะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลยกเป็นประเด็นต่อสู้แน่นอน

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์บทความ เรื่อง “หาก กกต.พิจารณาการถือหุ้นสื่อมวลชนของพิธาตามมาตรา ๑๕๑ จะมีผลอย่างไร” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Komsarn Pokong มีรายละเอียดดังนี้

เรามาพิจารณาต่อกันในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไม่รับคำร้องเพราะเป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ แต่เนื่องจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งต่อมาในวันเดียวกันนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กสาธารณะ ว่า “กกต.ไม่รับคำร้องของ ๓ นักร้อง แต่รับไว้เอง ในฐานะความปรากฏ เพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา ๑๕๑ ของ พ.ร.ป. ส.ส. ๑. ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับความปรากฏแปลว่า กกต.รับเป็นเจ้าภาพเอง ๒.ดำเนินคดีอาญา ม.๑๕๑ คือหาก กกต.พบว่า พิธา สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่าน ตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โทษจำคุก ๑-๑๐ ปี ปรับ ๒๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐บาท ตัดสิทธิทางการเมือง ๒๐ ปี ๓.การร้องคดีถือหุ้นสื่อยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส. แล้ว ตามมาตรา ๘๒ ของรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.ร้องเองในฐานะความปรากฎ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอน การเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ ๔.สรุป หนักกว่าเดิม”

การสรุปว่าหนักกว่าเดิม ผู้เขียนไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าจะหนักกว่าเดิม หรือไม่ แต่ถ้าพิจารณาในข้อกฎหมายก็จะพบว่า ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดบทบาทขององค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวพรรคการเมืองและการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภา(การเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกสำหรับสมาชิกวุฒิสภา) ดังนี้

๑. คณะกรรมการการเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมีบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการการได้มา การพิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ที่จำเป็นและการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในทุกระดับ ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยในเรื่องของการวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดได้เองและเป็นที่สุดด้วยเมื่อผ่านพ้นการเลือกหรือการเลือกตั้งไปแล้วแต่ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕ และ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เคยใช้อำนาจนี้และวินิจฉัยรวมเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องที่เป็นการกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีกรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ รับรองหลักการดังกล่าวไว้

๒. ศาลยุติธรรม บทบาทของศาลปกครองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น สามารถแยกได้ดังนี้

๒.๑ ศาลฎีกา ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองขึ้นทำหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาที่เกี่ยวนักการเมืองในคดีที่เกี่ยวข้องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา ๑๙๕) และมีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งขึ้นทำหน้าที่เกี่ยวกับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรคณะกรรมการการเลือกตั้งในคดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งเป็นเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เป็นกรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งนั้นศาลฎีกามีอำนาจเด็ดขาดพิจารณาได้เฉพาะในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง (มักเรียกกันว่า การรับรองผล) (มาตรา ๒๒๖) ส่วนการพิจารณาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

๒.๒ ศาลอุทธรณ์ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๕๖ และการพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งในคดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งเป็นเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการเลือกจั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แต่เป็นกรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเด็ดขาดพิจารณาได้เฉพาะในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มักเรียกกันว่า การรับรองผล) (มาตรา ๒๒๖) ส่วนการพิจารณาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วก็ยังเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์อยู่หาก คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องการกระทำอันเป็นการทำให้การเลือกหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม(รวมการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้าม)ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๑๐๗-มาตรา ๑๐๙

๒.๓ ศาลชั้นต้น แต่เดิมศาลชั้นต้นเคยมีบทบาทในฐานะศาลที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกรณีการไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนการคัดค้านการเลือกตั้ง(ภายหลังเรียกการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม)ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นแต่หลังจากมีรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ เรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามคดีอาญาอื่นๆ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องเริ่มพิจารณาโดยศาลชั้นต้น


๓. ศาลปกครอง ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีบทบาทในการเลือกหรือเลือกตั้ง เว้นแต่การกระทำบางอย่างที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ หรือเป็นกรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ (กรณีการกระทำด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอํานาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สิน หรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือดําเนินการอื่นตามที่ คณะกรรมการกําหนดอันจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย)ซึ่งเป็นอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในการวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา ๓๓

๔. ศาลรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การกระทำระดับสูงขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ และการพิจารณาวินิจฉัยในอำนาจหน้าทีระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจึงมีฐานะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเรื่องไม่ใช้ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป โดยในเรื่องของการขาดคุณสมบัติการมีลักษณะต้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาภายหลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรีแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒

ด้วยฐานะขององค์กรและศาลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในประเด็นอำนาจหน้าที่และบทบาทตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และจะดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดี

การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ ต้องพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญามาตรานี้ ซึ่งบัญญัติดังนี้

“มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”


องค์ประกอบภายนอก
ผู้กระทำ คือ ผู้ใดซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๒) การกระทำ คือสมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
๓) ผล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง

องค์ประกอบภายใน

เจตนา (รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง)

เมื่อได้แยกองค์ประกอบทางอาญาดังกล่าวประกอบข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๒ จึงทำให้มีปัญหาว่า ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้อย่างไร เมื่อการวินิจฉัยองค์ประกอบส่วนผู้กระทำนั้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเตะเผือกร้อนออกไม่รับคำร้องทั้ง ๓ คำร้อง ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕ และมาตรา ๒๒๖ ได้ แต่จะดำเนินคดีอาญาตามปกติ คือต้องฟ้องผ่านตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล(ศาลชั้นต้นด้วยไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง) จะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการดำเนินคดีจนเสร้จสิ้นถึงศาลฎีกา นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังมีข้อจำกัดในเขตอำนาจ เพราะอำนาจในการวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของนายพิธา ซึ่งในตอนนั้น น่าจะได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีคือ การขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลชั้นต้นอาจพิจารณาได้หลายทางซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีอาญาของ กกต.ทั้งสิ้น

หากศาลชั้นต้นพิจารณาว่า ไม่มีอำนาจรับเรื่องหรือยกฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเพราะไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ก็จะพ้นจากการดำเนินคดี ซึ่งพนักงานอัยการอาจอุทธรณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่หากศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณา ก็จะเป็นข้อต่อสู้ของนายพิธา(เกิดแน่ๆ)ได้ในทุกชั้นศาล ว่าศาลยุติธรรมไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาก่อนในคดีอาญามาตรา ๑๕๑ นี้ ซึ่งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการตามมาตรา ๘๒ คดีนี้น่าจะสิ้นสุดลงอย่างง่ายดายสบายนายพิธาที่ต้องวิตกกังวลมาเป็นเวลาพอสมควร

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ใช้อำนาจของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจโต้แย้งว่าไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง (๒) ได้เพราะไม่อาจสั่งให้กระทบต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรายอื่นของพรรคนั้นได้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องไปพิจารณาว่า มาตรา ๑๓๒ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๕-๒๒๖ หรือไม่ ซึ่งหากไม่สอดคล้องหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๕-๒๒๖ เป็นหลักด้วย และมาตรฐานการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ รับรองหลักการดังกล่าวไว้ว่า การกระทำซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้นรวมถึงการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกหรือสมัครรับเลือกตั้งด้วย(ก่อนปี ๒๕๕๑ กรณีนี้เป็นเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้ง)


การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแบบนี้ ก็คงต้องแสดงความยินดีกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และบรรดาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลด้วยที่น่าจะรอดจากปัญหาเรื่องนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะภายในพรรคน่าจะมีทนายความที่มีฝีมือเพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้นอกเสียจากว่าเมื่อเปิดสภาแล้วไปที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่ากว่าหนึ่งในสิบร้องขอประธานสภาผู้แทนราษฎรค่อยมากังวลในเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง

สรุปก็คือ เรื่องนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล น่าจะผ่านคดีมาตรา ๑๕๑ ไปได้สบายๆ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องกลับไปนั่งคิดหนักขึ้นว่า จะพ้นการฟ้องร้องของผู้ร้องทั้งหลาย ที่น่าจะร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๙ หรือไม่ และมีประเด็นฝากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ช่วยพิจารณาเรื่องการขาดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งซึ่งมีผู้ร้องเรียนไปนานละว่า มีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพตามกฎหมายแห่งหนึ่งด้วย หากจะวินิจฉัยแบบนี้ ก็วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวแบบเดียวกันด้วยจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น