อาจารย์นิติศาสตร์ ถาม กกต.ใช้ระเบียบใดไม่รับคำร้องของผู้ร้อง 3 คน ให้สอบคุณสมบัติ “พิธา” ปมถือหุ้นสื่อ ที่ถือเป็นการกระทำไม่สุจริตเที่ยงธรรม ยังอยู่ในช่วงเวลาที่รับคำร้องได้ จี้รีบตอบโดยเร็ว อย่าให้มีข้อสงสัยว่าช่วยเหลือกัน วันนี้ (10 มิ.ย.) นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์บทความ เรื่อง “กกต.ไม่รับคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อ ได้หรือ ?” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Komsarn Pokong มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๖ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต. วันนี้ กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ ๖ เสียง ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้ง เหตุการถือหุ้นไอทีวี จำนวน ๔๒,๐๐๐ หุ้น แต่ให้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ โดยเห็นว่า คำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง ๓ คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ในกรณีที่ร้องว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ แต่เนื่องจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง และพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป ว่านายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๒(๓) และมาตรา ๑๕๑ แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ที่ได้รับแต่งตั้งจะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอน และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป(ที่มา :ไทนรัฐออนไลน์https://www.thairath.co.th/news/politic/๒๗๐๐๗๐๑)
ขณะเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กสาธารณะ ว่า “กกต.ไม่รับคำร้องของ ๓ นักร้อง แต่รับไว้เอง ในฐานะความปรากฏ เพื่อดำเนินคดี ตามมาตรา ๑๕๑ ของ พ.ร.ป. ส.ส. ๑. ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับความปรากฏแปลว่า กกต.รับเป็นเจ้าภาพเอง ๒. ดำเนินคดีอาญา ม.๑๕๑ คือ หาก กกต.พบว่า พิธา สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่าน ตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โทษจำคุก ๑-๑๐ ปี ปรับ ๒๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐บาท ตัดสิทธิทางการเมือง ๒๐ ปี ๓. การร้องคดีถือหุ้นสื่อยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส. แล้ว ตามมาตรา ๘๒ ของรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.ร้องเองในฐานะความปรากฏ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอน การเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ ๔. สรุป หนักกว่าเดิม”
ข้อวินิจฉัยไม่รับคำร้องดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งทำให้มีข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใด คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงอ้างว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสามยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ในกรณีที่ร้องว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งผู้เขียนเห็นแล้วมีข้อสงสัยในข้อกฎหมายหลายประการ ดังนี้
๑. คำร้องของผู้ร้องทั้งสามยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จริงหรือ
เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหน้าสื่อ ดังกล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งแยกการวินิจฉัยคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าล่วงเลยระยะเวลาการร้องตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงได้ไปค้นดูระเบียบก็พบว่ามีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นระเบียบที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวอ้าง ซึ่งได้มีการแยกการวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไว้ ๒ ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงเวลาแรก เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖ ข้อ ๑๒๓-๑๒๘ ซึ่งเป็นเวลาในช่วงของการเริ่มสมัครรับเลือกตั้งจนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง
“ข้อ ๑๒๓ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประสงค์จะยื่นคำร้องคัดค้านประกาศรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ยื่นคำร้องด้วยตนเองพร้อมเอกสาร ประกอบคำร้องต่อเลขาธิการ และให้นำความในข้อ ๑๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้เลขาธิการมอบหมายพนักงานสืบสวนและไต่สวนบันทึกถ้อยคำผู้ร้องในวันที่ผู้ร้องมายื่นคำร้อง เพื่อประกอบคำร้อง
ข้อ ๑๒๔ การพิจารณาคำร้องของเลขาธิการ และการด าเนินการเกี่ยวกับคำาร้องคัดค้าน ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้นำความในข้อ ๑๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒๕ ให้เลขาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อยสามคณะ ประกอบด้วย
- ผู้อำนวยการสำนัก เป็นประธานกรรมการ
- รองผู้อำนวยการสำนักหรือผู้อำนวยการฝ่ายหนึ่งคนเป็นกรรมการ กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักหรือผู้อำนวยการฝ่าย ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นกรรมกาi
- พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ผ่านการอบรมหลักสูตรสืบสวนและไต่สวนระดับกลางหรือระดับต้นหนึ่งคน เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่ และอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง วินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น และจัดทำความเห็นเสนอต่อเลขาธิการ
ข้อ ๑๒๖ ให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับ มอบหมายตามข้อ ๑๒๔ แจ้งส่วนงานของส านักงานที่รับผิดชอบผู้ถูกร้อง และพรรคการเมืองที่ส่ง ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งทำคำชี้แจง และให้นำความในข้อ ๑๒๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒๗ เมื่อเลขาธิการได้รับรายงานจากคณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อ ๑๒๖ แล้ว ให้ทำความเห็นประกอบรายงานดังกล่าวเสนอ คณะกรรมการภายในวันถัดไป
ข้อ ๑๒๘ ให้นำความในข้อ ๑๒๒ มาใช้บังคับกับการวินิจฉัยคำร้องคัดค้านประกาศรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการโดยอนุโลม กรณีคณะกรรมการมีคำสั่งให้ถอนชื่อผู้สมัคร ให้สำนักงานจัดทำคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน สามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ และให้เลขาธิการดำเนินการถอนชื่อผู้สมัครที่ถูกร้องออกจาก ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมทั้งแจ้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพรรคการเมืองที่ส่งสมัครทราบโดยเร็ว และให้ปิดประกาศคำวินิจฉัยไว้ ณ สำนักงาน”
เมื่อพิจารณาจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มสมัครรับเลือกตั้งจนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องเกินกรอบระยะเวลาตามระเบียบอย่างไร จนคณะกรรมการการเลือกตั้งยกเป็นเหตุไม่รับ เพราะตามขั้นตอนของระเบียบเป็นการยื่นต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดำเนินการจัดให้มีการสอบสวนและไต่สวนในชั้นของสำนักงานเท่านั้น ในระเบียบนั้นไม่ปรากฏเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะวินิจฉัยไม่รับคำร้องเพราะยื่นคำร้องเลยเวลา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าเป็นการยื่นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา จึงเป็นที่สงสัยว่า ระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาจะเริ่มนับเมื่อใด จะนับแต่วันที่ยื่นต่อเลขาธิการเพื่อดำเนินการตามข้อ ๑๒๓-๑๒๗ หรือจะนับตั้งแต่วันที่เลขาธิการได้เสนอความเห็นประกอบรายงานรายงานจากคณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อ ๑๒๖ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า การพิจารณารับเรื่องร้องเรียน เริ่มนับเมื่อใด และกรณีนี้ เลขาธิการได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวในข้อ ๑๒๓-ข้อ ๑๒๗ แล้วก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาหรือไม่ จึงมีคำถามที่น่าสงสัยว่า กรอบระยะเวลาการรับไว้พิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ในช่วงใดอย่างไร
ส่วนการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เหตุผลว่าพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบนั้น ไม่ปรากฏว่าระเบียบได้กำหนดหลักการ รับ หรือ ไม่รับ เรื่องไว้พิจารณาคงมีแต่หลักการตามข้อ ๑๒๒ ซึ่งตามข้อ ๑๒๘ ให้นำข้อ ๑๒๒ มาโดยอนุโลม กับการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งกำหนดไว้ว่า
“ข้อ ๑๒๒ ให้คณะกรรมการพิจารณาความเห็นของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ตามข้อ ๑๒๑ และมีคำสั่ง ดังนี้
- สั่งให้ยกคำร้อง กรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และแจ้งผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการแจ้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบโดยเร็ว คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด
- สั่งให้ถอนชื่อผู้สมัคร กรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้สำนักงานจัดทำคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ และแจ้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการแจ้งผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบโดยเร็ว เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการถอนชื่อผู้สมัครที่ถูกร้องออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเร็วและให้ปิดประกาศคำวินิจฉัยไว้ ณ สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้น”
ตามข้อ ๑๒๒ ดังกล่าวระบุแต่เพียงการวินิจฉัยสั่งให้ “ยกคำร้อง” และ “ถอนชื่อผู้สมัคร” โดยในระเบียบดังกล่าวไม่กำหนดกระบวนการพิจารณาในชั้นรับหรือไม่รับ เรื่องไว้พิจารณา แต่อย่างใด นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไปเห็นว่าจะไปดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ ซึ่งเป็นการฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการรู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องการไม่มีคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงต้องมีคำถามว่า ตามระเบียบไม่ระบุขั้นตอนกระบวนพิจารณาชั้น รับไม่รับ แต่มีขั้นตอนการพิจารณา ยกคำร้องหรือสั่งคำร้อง เท่านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งไม่รับคำร้องอาศัยข้ออ้างตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องใดข้อใด และการไม่รับเรื่องไว้พิจารณา แต่ไปรับทำเองว่าความปรากฏตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ จึงเป็นกรณีที่ย้อนแย้งกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ช่วงเวลาที่สอง เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖ ข้อ ๒๒๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งแล้ว ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง มีหลักการว่า
“ข้อ ๒๒๑ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือ มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้นหรือกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบ หรือประกาศของ คณะกรรมการจนอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสียและมิให้นับเป็นคะแนนในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น กรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งภายหลังการนับคะแนนแล้ว มิให้นำความในข้อ ๑๗๔ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่บัตรเสียดังกล่าว”
เมื่อพิจารณาจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. ๒๕๖๖ ข้อ ๒๒๑ ดังกล่าว เป็นการกำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ หมวด ๗ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มาตรา ๑๓๒ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะวินิจฉัยได้เองในช่วงเวลาก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใด กระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดก่อให้บุคคลอื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่า มีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการ จนอาจเป็นเหตุ ให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีคำสั่งดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่การกระทำการนั้นเป็นการกระทำเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของผู้สมัครซึ่งกระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง
(๒) ในกรณีที่การกระทำการนั้นเป็นการกระทำเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และให้คณะกรรมการสั่งมิให้นับเป็นคะแนนในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ มิให้นำความในมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่บัตรเสีย ดังกล่าว เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งภายหลังการนับคะแนนแล้ว ”
เมื่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. ๒๕๖๖ ข้อ ๒๒๑ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ หมวด ๗ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เป็นข้อกำหนดที่ทำให้เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยการมีคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งได้ ส่วนเรื่องการวินิจฉัยการมีคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะถือว่าเป็นการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่นั้นก็ต้องพิจารณาในประเด็นต่อไป
๒. การร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
การวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีคำร้องดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแยกเรื่องการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แยกออกจากการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ หมวด ๗ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งมีการแก้ไขเฉพาะมาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะวินิจฉัยได้เองในช่วงเวลาก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งมาตรา ๑๓๒ ดังกล่าวและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ ๒๒๑ นั้น มีความแตกต่างกับ มาตรา ๑๓๒ หนึ่งเดิม ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่บัญญัติว่า
“มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่
คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรานี้ภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้คะแนนเลือกตั้งในลำดับซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน”
บทบัญญัติดังกล่าวมีการเพิ่มมาตรการในการลงโทษพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และหากพิจารณาตามแนววินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการในการดำเนินการกรณีเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๖๐ ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น”
บทบัญญัติมาตรา ๖๐ ดังกล่าวนั้นมีถ้อยคำและหลักการที่ใกล้เคียงกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ เดิม ซึ่ง คำว่า “การเลือกตั้ง”หรือ “การเลือก” ซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องเรื่องการมีปัญหาการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องการกระทำซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๒/๒๕๖๒ กรณีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จังหวัดระยอง กรณีของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ ๖๕๗๕/๒๕๖๒ ซึ่งวินิจฉัยสรุปความได้ว่า
“ผู้ร้อง(คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคําร้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ และผู้ร้องมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เรื่อง กําหนดวันเลือกและวันรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา กําหนดวันเลือกระดับอําเภอวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ วันเลือกระดับจังหวัดวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ และวันเลือกระดับประเทศวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง กลุ่มที่ ๔ โดยยื่นใบสมัครพร้อมแสดงหนังสือแนะนําชื่อผู้สมัครจากองค์กรกลุ่มเกษตรกรทําสวนชุมแสง อําเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผู้ร้องได้รับรายงานกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้คัดค้านกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔(๑๒) และมาตรา ๗๔ กล่าวคือ ผู้คัดค้านมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาและรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ร้องไต่สวนแล้วได้ความว่าผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) การที่ผู้คัดค้านรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ได้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกระทําอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) และมาตรา๗๔เป็นเหตุให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมผู้ร้องจึงมีคําสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ขอให้มีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๖ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคสอง
ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเคยดํารงตําแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ)๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ นั้น มิใช่ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “กองทุนไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นข้าราชการกรรมการในส่วนราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างหรือตําแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในส่วนราชการใดๆ ผู้คัดค้านจึงมิได้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ยกคําร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งไต่สวนและตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยอง กลุ่มที่ ๔ โดยยื่นใบสมัครพร้อมแสดงหนังสือแนะนําชื่อผู้สมัครจากองค์กรกลุ่มเกษตรกรทําสวนชุมแสง อําเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผู้คัดค้านได้รับเลือกระดับอําเภอ และระดับจังหวัด แต่ไม่ได้รับเลือกในระดับประเทศ ก่อนประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้ร้องได้รับรายงานกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ ผู้ร้องจึงมีคําสั่งให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ทําให้ผู้คัดค้านมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔(๑๒) และถือว่าผู้คัดค้านกระทําการเพื่อให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ตามมาตรา ๒๐ หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) บัญญัติให้ผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา การที่ผู้คัดค้านเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่พิพากษาว่าผู้คัดค้านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ (๑๒) ที่ผู้คัดค้านต่อสู้ว่ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่เป็นส่วนราชการ การกระทําความผิดของผู้คัดค้านตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ไม่ถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการนั้น แม้พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา๑๐ บัญญัติให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณก็ตาม แต่มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ กรรมการบริหาร เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อผู้คัดค้านเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ผู้คัดค้านจึงมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้คัดค้านต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔(๑๒) การที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกระดับอําเภอวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑วันเลือกระดับจังหวัดวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ และวันเลือกระดับประเทศวันที่ ๒๗ ธันวาคม๒๕๖๑ ทั้งที่ผู้คัดค้านต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามคําพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) ๒๓/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเพราะมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ยังสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาทําให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในระดับอําเภอและระดับจังหวัดมีผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามเข้าไปรับการเลือกด้วยการกระทําของผู้คัดค้านจึงเป็นการทําให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดระยองมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะต้องสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่ก่อนประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทําให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๕ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคําร้อง ต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นตามมาตรา ๒๒๖ วรรคหนึ่ง และศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้นั้นกระทําความผิดตามที่ถูกร้อง มาตรา ๒๒๖ วรรคสาม ให้ศาลฎีกาสั่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการใดหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น อันทําให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี คําสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด” และวรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคําร้องต่อ ศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น” ดังนี้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้คัดค้านกระทําให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งย่อมต้องสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตามคําขอของผู้ร้องด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๖วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๖๐ วรรคสอง พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ผู้คัดค้านเป็นเวลาสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษา”
(ที่มา : สำนักข่าวอิสรา https://www.isranews.org/article/isranews-news/78871-isranews_78871.html)
จากหลักการทั้งสองช่วงเวลาและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งในเรื่องดังกล่าว เท่ากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้วาง หลักกฎหมายแล้วว่า การไม่มีคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (เลือก) เป็นส่วนหนึ่งของ “การกระทำซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ซึ่งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยตามหลักการที่ปฏิบัติมาแล้ว ผลก็จะเป็นที่สยดสยองแก่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลทุกคนตามบทบัญญัติของตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ มาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ และคณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องเตรียมหาคำตอบกับผู้ร้องทั้งสามด้วยว่า ใช้ระเบียบใด และข้อใดในการวินิจฉัยไม่รับคำร้องเขา และยังถือว่าเป็น“การกระทำซึ่งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” รวมทั้งเพราะเหตุใดจึงไม่ทำการวินิจฉัยตามมาตรา ๑๓๒ ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถกระทำได้ รีบหาคำตอบเร็วๆ นะ อย่าให้มีข้อสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ เดี๋ยวเขาจะหาว่าช่วยเหลือกันนะ จะบอกให้