xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน” เห็นแย้งอดีต เลขาฯ กกต. ชี้ข้อบังคับ “ก้าวไกล” มัด หาก “พิธา” ผิด ส่อเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์นิติศาสตร์ ม.รังสิต เห็นแย้งอดีตเลขาฯ กกต.ที่อ้างว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ห้ามหัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อ หากหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิสมัคร ส.ส.ไม่กระทบถึงผู้สมัคร ชี้แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ห้าม แต่ข้อบังคับพรรคก้าวไกล มีข้อห้ามผู้ถูกตัดสิทธิสมัคร ส.ส.เป็นสมาชิกพรรค ดังนั้น หาก “พิธา” ถูกตัดสิทธิเพราะถือหุ้น ITV จะส่งผลถึงผู้สมัคร อาจต้องเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์บทความ เรื่อง “หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามจริงหรือ?” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Komsarn Pokong มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖ พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ พุมมา สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ยกตัวอย่าง อธิบายข้อกฎหมาย กรณีการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เซ็นรับรองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ได้มีกำหนดข้อห้ามการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนไว้ จึงไม่ได้ส่งผลกับ ส.ส.ที่เซ็นรับรอง และชนะการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างว่า

“คำถาม นายนิทรา เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จดทะเบียนโดยถูกต้อง เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา ได้ออกหนังสือรับรองให้ผู้สมัครของพรรคไปยื่นสมัครรับเลือกตั้ง นายนิทราลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรค และได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา ภายหลังจากวันเลือกตั้ง มีผู้ร้องเรียนว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อ UTV หากศาลตัดสินว่า ถือหุ้นสื่อ UTV จริงการถูกตัดสิทธิ จะมีผลถึงการรับรองผู้สมัครฯ ทำให้การรับรองจากนายนิทรา ไม่ชอบ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หมดหรือไม่อย่างไร

“ตอบ นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีการจัดตั้งฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย มีชื่ออยู่ในข้อบังคับพรรคการเมือง ที่มีนายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการเลือกตั้ง นายนิทรา หัวหน้าพรรคการเมือง ออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหา (primary) เพื่อเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ตาม มาตรา ๕๖ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ มาตรา ๔๕ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ภายหลังวันเลือกตั้งหากศาลตัดสินว่า นายนิทรา ถือหุ้นสื่อฯ มาก่อนเลือกตั้ง ๕ ปี แม้ว่า นายนิทรา ออกหนังสือรับรองให้กับผู้สมัครฯ ในช่วงขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม แต่ก็เป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของนายนิทรา ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่การลงนามรับรองให้กับผู้สมัครของพรรค เป็นการรับรองในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็มิได้ห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน แต่อย่างใด ตาม ม.๑๖, ๒๔, ๙ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ประกอบ ม.๙๘ รัฐธรรมนูญ”

การตั้งประเด็นของอดีตเลขาธิการ กกต. ข้างต้นเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่มีการร้องเรียนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้น ITV ซึ่งมีปัญหาว่ายังประกอบการสื่ออยู่หรือไม่ และจะส่งผลให้นายพิธา ต้องมีลักษณะต้องการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ แต่ประเด็นของอดีตเลขาธิการ กกต.นั้นมีความขัดแย้งกับที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการมีลักษณะต้องห้ามของนายพิธาฯ ในการถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน อาจส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ จึงเกิดความสับสนและมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก ผมเองก็มีความเห็นทั้งคล้อยตามและเห็นต่างในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ที่เขียนนี้ยังไม่ก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่า นายพิธาฯ มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนอย่างไร จึงขอกล่าวเฉพาะผลว่า หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามจริงหรือไม่ และหากหัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อไม่ได้และมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจริง ผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นๆ ของพรรคการเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร

ในเรื่องของการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๗ ประกอบมาตรา ๙๕ และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘ ประกอบมาตรา ๙๖ และประเด็นที่เป็นปัญหานี้ต้องพิจารณามาตรา ๙๘ (๓) เป็นหลักก่อน ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๘ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ฯลฯ ฯลฯ

(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”

ดังนั้น มีข้อสมมติว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือนายพิธาฯ ไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะถือหุ้นในบริษัทไอทีวี ก็คงไม่มีปัญหาอะไรการรับรองให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คงดำเนินต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บริษัท ไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่อมวลชน หรือนายพิธาฯ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘(๓) เพราะถือหุ้นบริษัทไอทีวีซึ่งเป็นกิจการสื่อมวลชน จะมีผลอย่างไร ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้หัวหน้าพรรคถือหุ้นสื่อจริงหรือไม่ ต้องไปพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งหากอ่านผ่านๆ เร็วๆ โดยไม่พิจารณาความเชื่อมโยงของตัวบทและหลักการของการเป็นพรรคการเมืองและการบริหารพรรคการเมือง ก็จะเข้าใจว่า หัวหน้าพรรคการมืองถือหุ้นสื่อได้ เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่มีมาตราใดเขียนถึงคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเลย มีแต่มาตรา ๑๕(๔) ซึ่งเป็นการกำหนดองค์ประกอบของข้อบังคับพรรคการเมืองที่ต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่และอำนาจของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เท่านั้น เสมือนกับว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่มีข้อห้ามในการถือหุ้นสื่อมวลชน หรือไม่มีข้อกำหนดในลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นๆ ในกฎหมายเลย

แต่ในความเป็นจริงการอ่านและตีความอย่างเข้าใจในระบบพรรคการเมืองและการบริหารพรรคการเมืองต้องพิจารณาแบบเข้าใจในหลักการและพิจารณาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบจึงจะพบว่า บทบัญญัติของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการกำหนดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเอาไว้แล้วโดยเบื้องต้นให้พิจารณา มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ เป็นหลัก

“มาตรา ๒๔ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙(๑) (๓) และ (๕)

มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

บทบัญญัติดังกล่าวหากแปลความได้ว่า การบริหารพรรคการเมืองต้องกระทำโดยสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากให้คนซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรคการเมืองเข้ามาบริหารพรรคการเมือง พรรคการเมืองนั้นจะมีลักษณะของการดำเนินกิจกรรมที่ต้องห้ามตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ เพราะหากให้หัวหน้าพรรคที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาบริหารพรรคการเมืองย่อมต้องเข้าลักษณะของการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองนั้นโดยตรง อันจะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒(๓)

การบริหารพรรคการเมืองจึงต้องกระทำโดยสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น จึงจะสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ส่วนคุณสมบัติเบื้องต้นของสมาชิกพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นอย่างไร ก็ต้องไปพิจารณามาตรา ๒๔

“มาตรา ๒๔ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙(๑) (๓) และ (๕)

มาตรา ๙ บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้

ฯลฯ ฯลฯ

(๓) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ”

การเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘(๓) ดังกล่าวเป็นการกำหนดคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามพื้นฐานของสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงไปยังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ เกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการถือหุ้นสื่อตาม มาตรา ๙๘(๓) และ การเป็นข้าราชการประจำซึ่งมีตำแหน่งและเงินเดือนประจำยกเว้นข้าราชการการเมืองตามาตรา ๙๘(๑๒) เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นในการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ความเห็นของอดีตเลขาธิการ กกต.ที่ว่า คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็มิได้ห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ก็เป็นความเห็นทั่วๆ ไปของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลว่า ในข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ ๑๒ ไปกำหนดการมีคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคก้าวไกลมากกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๙ คือไปกำหนดว่า ต้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อ ๑๒ ดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่า

“ข้อ ๑๒ สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๒) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี

(๓) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

(๔) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น

(๕) มีพฤติกรรมหรือความคิดขัดต่ออุดมการณ์ของพรรค

(๖) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

(๗) มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด”

ดังนั้น หลักการของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่การบริหารพรรคการเมืองต้องกระทำโดยสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๔ ประกอบกับมาตรา ๙ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ประกอบกับข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ ๑๒ (๖) จึงน่าจะได้คำตอบว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เพราะแม้แต่สมาชิกพรรคก้าวไกลเองก็ยังถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ข้อสรุปของอดีตเลขาธิการ กกต. จึงยังไม่อาจเป็นตัวอย่างให้แก่กรณีนี้ได้

ส่วนผลของการที่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธาฯ อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ (๓) ซึ่งจะส่งผลให้บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทั้งหมดต้องมีปัญหาไปด้วย จนถึงขนาดที่จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมหรือหรือเลือกตั้งใหม่ทั่วไปเทศ ตามที่นายวิษณุ เครืองามได้กล่าวไว้หรือไม่นั้น คงต้องไปพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๖ และมาตรา ๑๐๙ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๕๖ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๕๑

เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งหรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่ามิได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป แต่ถ้าคณะกรรมการทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องกล่าวโทษหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเขตอำนาจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

มาตรา ๑๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย

ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำ การฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมือง บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง”

สภาพปัญหาทางกฎหมายของพรรคก้าวไกลอาจมีมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ตรงที่พรรคก้าวไกลไปกำหนดข้อบังคับพรรคให้มีมาตรฐานของคุณสมบัติสมาชิกพรรคก้าวไกลให้สูงกว่าพรรคการเมืองอื่นโดยไปอิงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่ควรไปกำหนดเช่นนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธาฯ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด หากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมาก่อนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และศาลวินิจฉัยก่อนการรับรองให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีปัญหาว่า การรับรองบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทั้งหมดที่นายพิธาฯ ได้รับรองไป จะเป็นการรับรองโดยหัวหน้าพรรคผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล การรับรองดังกล่าวจึงไม่น่าจะมีผลให้เป็นการรับรองได้ จึงอาจมีประเด็นอย่างที่นายวิษณุ กล่าวได้ว่า อาจต้องมีการเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ เพราะการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับการรับรองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง

“มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่
คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด...”

แต่หากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งและรับรองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะต้องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๒ วรรคท้าย คือต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยว่านายพิธาฯ อาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘(๓) และหากวินิจฉัยว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทั้งหมดต้องมีปัญหาไปด้วย หากคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องของปัญหาการรับรองให้เป็นผู้สมัครของพรรคก้าวไกลไปให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งอาจมีผลการวินิจฉัยในทางใดก็ได้ ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยกรณีนี้ในคราวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เนื่องจากไม่มีความเห็นคณะกรรมการเลือกตั้งส่งประเด็นดังกล่าว และเป็นการวินิจฉัยหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ไปแล้วถึง ๘ เดือนเศษ

ดังนั้น ข้อคิดเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม ที่กล่าวว่า อาจมีการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ ก็อาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น