xs
xsm
sm
md
lg

ไม่จบ! “กรมที่ดิน” ส่งกฤษฎีกาตีความ “หนองหาน” เมืองสกลฯ หลังได้งบพัฒนา 7.4 พัน ล. หน่วยงานไหน? มีอำนาจดูแลรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่จบ! มหาดไทย ส่งกฤษฎีกาตีความ ที่ดิน “หนองหาน” เมืองสกลนคร อีกรอบ ระบุให้ชัด หลังจังหวัด งง? 2 หน่วยงาน ใครเป็น “ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา” หลังรัฐบาลลุง อนุมัติงบพัฒนา กว่า 7.4 พันล้าน เผย ให้ตีความพ่วงเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ประเภทใด ยกกรณี “กว๊านพะเยา” ลักษณะเดียวกัน “ธนารักษ์” มอบให้ “กรมประมง” ก.เกษตรฯ ใช้ประโยชน์รักษาพืชพันธุสัตว์นํ้า

วันนี้ (9 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือ จากผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนจังหวัดสกลนคร ผู้แทนกรมการปกครอง และ ผู้แทนกรมธนารักษ์

ขอหารือกรณี สถานะทางกฎหมายของที่ดิน “หนองหาร” (หรือหนองหาน) ของอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พุทธศักราช 2484 ว่าเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใด และหน่วยงานใดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา

มีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเอกสาร ยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนสภาพ ความเป็นจริงของพื้นที่บริเวณ“หนองหาร” (หรือหนองหาน) จึงไม่อาจพิจารณาสถานะทางกฎหมาย ของที่ดินส่วนที่เป็นพื้นดินบริเวณ“หนองหาร” (หรือหนองหาน) ได้

ประกอบกับ “กรมที่ดิน” มีความเห็น แตกต่างกับ “กรมธนารักษ์” จึงเห็นควรให้ “กรมที่ดิน” ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว

มีข้อสังเกตว่า การส่งเรื่องเพื่อให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ควรระบุด้วยว่า ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดแล้ว รวมถึงระบุความเห็นของกรมธนารักษ์ด้วย

ทั้งนี้ กรณีที่ดินบริเวณ “หนองหาร” (หรือหนองหาน) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พุทธศักราช 2484

“มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ดินบริเวณ “กว๊านพะเยา” ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณ กว๊านพะเยา พุทธศักราช 2482 ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์ มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เป็นผู้ใช้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาพืชพันธุสัตว์นํ้า”

จึงขอให้นำข้อเท็จจริงของที่ดินบริเวณ “หนองหาร” (หรือหนองหาน) และที่ดินบริเวณ “กว๊านพะเยา” หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ในคราวเดียวกัน

เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน บริเวณดังกล่าวต่อไป

ก่อนหน้านั้น ฝ่ายกฎหมาย มท. มีความเห็นว่า เนื่องจากประเด็นข้อหารือเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดิน “หนองหาร” (หรือหนองหาน) นั้น มีข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอีกหลายหน่วยงาน

“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจ หน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งเป็น กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมการปกครอง””

ปัญหาการตีความ “ที่ราชพัสดุ” ตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ว่ามีขอบเขตเพียงใด

ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ จึงควรนัดประชุมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันในคราวต่อไป และเชิญผู้แทนกรมธนารักษ์ และกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

มีรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีความเห็น เลขเสร็จที่ 14/2533

เรื่อง อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาหนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้มีความเห็นไว้ว่า นายอำเภอแห่งท้องที่นั้น จึงยังคงมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปที่จะดูแลรักษาที่ดินบริเวณ “หนองหาน” นี้อยู่ด้วย

เท่าที่ไม่ขัดต่ออำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของกรมประมงตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินบริเวณ “หนองหาน” จึงเป็นทั้งของ “กรมประมงและนายอำเภอแห่งท้องที่” ซึ่งต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการรักษาดูแลด้วยกัน

ตามขอบเขตและตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบอยู่

แต่ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินบริเวณ “หนองหาน” ของหน่วยงานดังกล่าวจะต้องเป็นการดำเนินการไปเพื่อปกป้องรักษาสภาพการใช้ที่ดินบริเวณนี้เพื่อการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ

หรือเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของประชาชนตามขอบเขตของวัตถุประสงค์ในการสงวนหวงห้ามที่ดินบริเวณนี้ไว้ เท่านั้น

โดยไม่อาจอนุญาตให้บุคคลใดๆเข้าไปกระทำการใดๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณนี้เป็นประการอื่นที่แตกต่างไปจากวัตถุประสงค์ของการสงวนหวงห้ามไว้

หรือเป็นการขัดขวางต่อสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนได้แต่อย่างใด

เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำ สาธารณะหนองหาร จ.สกลนคร

มีใจความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 3 ก.พ.นี้

ประกาศดังกล่าว ให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบควบคุมดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะหนองหาร จ.สกลนคร

“อ.โพนนาแก้ว ในพื้นที่ ต.นาตงวัฒนา และ ต.บ้านแป้น และอ.เมืองสกลนคร ในพื้นที่ ต.โคกก่อง ต.งิ้วด่อน ต.เชียงเครือ ต.ท่าแร่ ต.ธาตุเชิงชุม ต.ธาตุนาเวง ต.ม่วงลาย ต.เหล่าปอแดง และ ต.ฮางโฮง”

โดยให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรนาสาธารณะหนองหาร จะมีหน้าที่ประสานงานร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

เพื่อกำหนดแนวทางการใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะสำหรับกิจกรรมประเภทต่างๆ ในภาวะปกติและแนวทางการใช้สอยน้ำสาธารณะในภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำท่วม

ตลอดจนแนวทางในการควบคุมดูแลและการบำรุงรักษาทรัพยากรนาสาธารณะหนองหาร ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

ขณะเดียกวัน ยังมีอำนาจออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะหนองหาร สำหรับกิจกรรมที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ตามหมวด 4

การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำแห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามกรอบแนวทางที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด

รวมถึงการรายงานผลการควบคุมดูแลและการบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะหนองหาร ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงนตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

และปฏิบัติการอื่นใดร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหรือการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพในและบริเวณโดยรอบพื้นที่แหล่งทรัพยากรน้ำสาธารณะหนองหาร

โดยที่ผ่านมา มีการแต่งตั้ง พลเอก ธัญญา เกียรติสาร ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เป็น ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานคณะทำงาน พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูหนองหาร จังหวัดสกลนคร

โดยคณะทำงานชุดนี้ ยังประกอบด้วย มณฑลทหารบกที่ 29 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสกลนคร (กอ.รมน.)

มีอำนาจเพื่อจัดแนวทาง มาตรการด้านรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในหนองหาร และประสาน ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทาง มาตรการรักษา สิ่งแวดล้อมในหนองหาร

โดยคณะทำงานชุดนี้ อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน

สำหรับ แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร นั้นผ่าน ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อ 15 ก.ย. 2563 ประกอบด้วย การพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและการบริหารจัดการ

รวมระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี จำนวน 62 แผนงาน/โครงการ วงเงินงบประมาณ 7,445.22 ล้านบาท มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น กำกับดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น