xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหา เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหา เพื่อนำมาปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง


วันนี้ (9 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำในเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) อย่างใกล้ชิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐบาลบูรณาการการทำงานร่วมกัน ติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมรับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามผลการดำเนินงานมาตรการรับมือฤดูแล้ง และหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังได้เตรียมแผนปฏิบัติการในการรองรับไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน อาทิ คาดการณ์เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ บริหารจัดการในแหล่งน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลประทาน ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ รวมถึงเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในฤดูแล้งในปีต่อไปด้วยเช่นกัน

ในเดือนพฤษภาคม 2566 ทางกรมชลประทานยังประชุมหารือถึงการวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง พร้อมวางแนวทางรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยจะติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565/2566 และการปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัย ผ่านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยจะกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ รัฐบาลโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าขยายแหล่งน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ พร้อมกำชับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรับฟังปัญหา และความต้องการของประชาชน โดยรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม พร้อมทั้งแสวงหาแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เป็นแหล่งน้ำสำรอง เพื่อจัดสรรกระจายการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ

“นายกรัฐมนตรีวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ในเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งจนถึงก่อนเข้าฤดูฝน โดยไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์น้ำ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ประชุมหารือ วางแนวทาง รวมทั้งรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อนำมารวบรวม ประเมิน และปรับปรุง การบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปวางแนวทางการทำงาน ไม่ปล่อยให้พี่น้องชาวเกษตรกรรับมือด้วยตนเอง” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น