กาญจนบุรี - ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ร้อง อบจ.พัฒนาโรงงานกระดาษต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกลุ่ม “เครือข่ายภูมิบ้าน-ภูมิเมืองกาญจน์” ต้องมีส่วนร่วม ชี้ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในการพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การพัฒนาโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ซึ่งเป็นอาคารสุดคลาสสิกอายุเกือบ 100 ปี ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย” อบจ.ต้องให้กลุ่ม “เครือข่ายภูมิบ้าน-ภูมิเมืองกาญจน์” และคนเมืองกาญจน์เป็นกรรมการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีได้รับมอบอาคารมาแล้ว ควรต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในการพัฒนาพื้นที่ โดยการมีภาคประชาสังคมจังหวัดกาญจนบุรี กลุ่ม “เครือข่ายภูมิบ้าน-ภูมิเมืองกาญจน์” เป็นกรรมการร่วมด้วย และจัดเวทีประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่แผนในการพัฒนาพื้นที่ที่เน้นประโยชน์และการเข้าถึงของประชาชนกาญจนบุรีและสังคม ที่ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มบริษัทบีทีเอส ซึ่งได้ดำเนินการเข้าซื้อโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ได้ลงนามส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อสังคมของจังหวัด และกิจกรรมประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี มีเนื้อที่กว่า 60 ไร่ สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.2476 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกระทรวงกลาโหม และเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีชื่อเมื่อแรกก่อตั้งว่าโรงงานทำกระดาษทหารกาญจนบุรี นอกจากผลิตกระดาษแล้ว ยังเป็นโรงงานแห่งแรกที่ผลิตธนบัตรไทยและแสตมป์โดยใช้เยื่อไม้ไผ่
ตัวอาคารออกแบบโดยวิศวกร และนายช่างจากประเทศเยอรมนี เป็นสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาท่ามกลางโบราณสถานกำแพงเมืองเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โรงงานแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมของจังหวัดกาญจนบุรี
สถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณแห่งนี้ได้รับการขนานนามให้เป็นมิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย เป็นแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราว และอิทธิพลต่อสังคมในเมืองกาญจนบุรี ณ สมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทย
พ.ศ.2530 คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกกิจการโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี และเห็นชอบให้บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด เป็นผู้ประเมินซื้อโรงงาน และให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ โดยครบกำหนดสัญญาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560
ต่อมา ทางภาคประชาสังคมจังหวัดกาญจนบุรีทราบว่าในปี 2556 กรมธนารักษ์ กรมศิลปากร จังหวัดกาญจนบุรี และบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เตรียมพัฒนาพื้นที่ในโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น พิพิธภัณฑ์โรงพิมพ์ และโรงแรมแนวอนุรักษ์เชิงพาณิชย์ วงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
ภาคประชาสังคมจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวให้ทางจังหวัดยุติโครงการ และเรียกร้องให้กรมธนารักษ์ยุติสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทเอกชน ที่มีการขยายการสิ้นสุดจนจะหมดสัญญาในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 70,000 รายชื่อ ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในที่สุดกรมธนารักษ์ยุติสัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้กับเอกชน และนำมาสู่การปิดฐานการผลิตกระดาษลงในเดือนตุลาคม 2561
ภาคประชาสังคมได้รวมกลุ่มเป็น “เครือข่ายภูมิบ้าน-ภูมิเมืองกาญจน์” โดยมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติชาว จ.กาญจนบุรีเป็นที่ปรึกษา ได้จัดเวทีประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดรับรู้และร่วมออกแบบกลไกการบริหารจัดการ นำมาสู่แผนเบื้องต้นในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเป็นหุ้นส่วนกลไกการขับเคลื่อน แต่เมื่อ อบจ.กาญจนบุรีได้รับมอบอาคารจากบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มบริษัทบีทีเอส กลับไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และกลุ่ม “เครือข่ายภูมิบ้าน-ภูมิเมืองกาญจน์”