xs
xsm
sm
md
lg

“นายทิวา” คว้ารางวัล “แสงสรรค์วรรณศิลป์” ครั้งที่ 1 จาก “สถาบันไทยปัญญ์สุข”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชมัยภร แสงกระจ่าง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประกาศผลและมอบรางวัล “แสงสรรค์วรรณศิลป์” ครั้งที่ 1 ให้ “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” หรือ “นายทิวา” ในงาน “รักในมุทิตาจิต” อ.ชมัยภร บางคมบาง ณ สถาบันไทยปัญญ์สุข

“สถาบันปัญญ์สุข” จัดกิจกรรม “รักในมุทิตาจิต” อ.ชมัยภร บางคมบาง เนื่องในวาระครบรอบ 73 ปี นางชมัยภร บางคมบาง หรือ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 พร้อมประกาศผลและมอบรางวัล “แสงสรรค์วรรณศิลป์” ประเภทบุคคล ครั้งที่ 1 ให้แก่ “นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” นามปากกา “นายทิวา” โดยมี “ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ” ผู้ก่อตั้งสถาบันไทยปัญญ์สุข “นรีภพ จิระโพธิรัตน์” นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย “เจน สงสมพันธุ์” อดีตนายกและที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนฯ “พินิจ นิลรัตน์” วิทยากรและกรรมการประกวดกวีนิพนธ์ “ขจรฤทธิ์ รักษา” ผู้ก่อตั้งนิตยสาร “ไรเตอร์” พร้อมด้วย กวี นักเขียน สื่อมวลชน และผู้สนใจร่วมงานอย่างอบอุ่น ณ สถาบันปัญญ์สุข เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ


นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 กล่าวว่า ในฐานะวิทยากรสอนการเขียนให้สถาบันไทยปัญญ์สุข ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ เป็นประจำ และได้รับเกียรติจากสถาบันไทยปัญญ์สุขให้เป็นผู้คัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับรางวัลแสงสรรค์วรรณศิลป์ ประจำปี โดยมีหลักการกว้างๆ ว่า เป็นผู้สร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์ประเภทฉันทลักษณ์อย่างจริงจังและจริงใจ สร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์สม่ำเสมอเป็นที่ประจักษ์ และมีจิตใจรักความเป็นธรรมและพร้อมอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ขอประกาศให้ นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร นามปากกา “นายทิวา” เป็นผู้ได้รับ รางวัลแสงสรรค์วรรณศิลป์ ประจำปี 2566 ด้วยเหตุผลว่า นายเอกรัตน์ หรือ “นายทิวา” สร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์ประเภทฉันลักษณ์อย่างจริงจังและจริงใจ ชื่นชอบการเขียนทุกรูปแบบ สนุกกับการฝึกหัดด้านงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองมาตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษา ส่งผลงานประกวดในเวทีต่างๆ รวมถึงมีผลงานตีพิมพ์ผ่านนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาโดยใช้ทั้งชื่อจริงและนามปากกา อาทิ แทน อาทร, ทิวา แทนอาทร, กระดาษขาว, ซ้าย ทุรเสพ, นายเมือง, เอกรัฐ เอกราษฎร์, ขุน(ไม่)ขึ้น, คุณนายกิมฮวย, วรรณกร คีตเวศน์ ฯลฯ

นางชมัยภร กล่าวต่อว่า “นายทิวา” มีผลงานรวมเล่มมาแล้ว 18 เล่ม ในจำนวนนี้เป็นกวีนิพนธ์ 15 เล่ม และในจำนวน 15 เล่มนี้เป็นงานฉันทลักษณ์ 14 เล่ม หลายเล่มได้รางวัล อาทิ รวมบทกวี “ในความไหวนิ่งงัน” 2553 เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย "รางวัลซีไรต์" ประจำปี 2553, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทกวีนิพนธ์ "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" ครั้งที่ 7 ประจำปี 2553 (ไม่มีรางวัลชนะเลิศ), รางวัลชมเชย หนังสือดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2554 และรวมบทกวี “โคลงบ้านโคลงเมือง” 2556 รางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2557

ความโดดเด่นของ “นายทิวา” คือ ความคิดดี สะท้อนในเนื้อหาที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่คนที่เสียเปรียบในสังคม และสะท้อนภาวะความเป็นมนุษย์เพื่อให้มนุษย์เข้าใจมนุษย์ด้วยกัน โดย “นายทิวา” ได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านฉันทลักษณ์ที่คงความเป็นฉันลักษณ์นั้นๆ ไว้อย่างถูกต้องและงดงาม ในขณะเดียวกันโดยส่วนตัว นายเอกรัตน์ยังมีจิตสาธารณะช่วยงานส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกรรมการตัดสินงานกวีนิพนธ์ให้องค์กรต่างๆ ที่จัดประกวด รวมทั้งจัดรายการวิทยุ เพื่อให้คนคิดใหม่ๆ และมีความปรารถนาดีต่อกัน ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของรางวัล จึงขอประกาศให้ นายเอกรัตน์ เป็นผู้สมควรได้รับ รางวัลแสงสรรค์วรรณศิลป์ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของการมอบรางวัล

ด้าน ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ผู้ก่อตั้งสถาบันไทยปัญญ์สุข เปิดเผยว่า รางวัลแสงสรรค์วรรณศิลป์ มาจากความตั้งใจของ อ.ชมัยภร บางคมบาง ร่วมกับสถาบันไทยปัญญ์สุข ตามหลักเกณฑ์รางวัลที่ได้ประกาศให้ทราบแล้ว ส่วนชื่อรางวัลนั้น “แสง” มาจาก “แสงกระจ่าง” ขณะที่ “สรรค์” มาจากเป็นผู้สร้างสรรค์ และ “วรรณศิลป์” คือผลงานด้านวรรณศิลป์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ โดยมีความตั้งใจจะมอบรางวัลนี้เป็นประจำทุกปี ซึ่งผู้ได้รับรางวัลได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท




กำลังโหลดความคิดเห็น