xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาฯ เผยแนวโน้มโรคหลอดลมเรื้อรังมากขึ้น บางคนไม่รู้ว่าป่วย จัดงานสัปดาห์ให้ความรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.จุฬาฯ พบแนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดลมมากขึ้น บางคนไม่รู้ว่าป่วย จัดงานสัปดาห์โรคหลอดลมเรื้อรังให้ความรู้อาการโรค เพื่อเข้ารับการตรวจรักษา เผยอาการที่พบบ่อยคือ ไอ อาจมีหรือไม่มีเสมหะ เหนื่อย ทำกิจวัรประจำวันลดลง หายใจได้ยินเสียงหวีด

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ. จุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน "สัปดาห์โรคหลอดลมเรื้อรัง จุฬาฯ 2566" ว่า หลอดลมเป็นด่านหน้าของระบบทางเดินหายใจ สัมพันธ์โดยตรงกับภาวะต่างๆ ในปัจจุบันที่อาจจะก่อโรคหลอดลมเรื้อรังได้ เช่น มลพิษฝุ่น PM 2.5 โรคภูมิแพ้ และการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้นโรคหลอดลมหลายคนยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ ความจริงยังมีกลุ่มโรคอีกมากมายที่ก่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ เช่น โรคหอบหืด โดยเฉพาะในเด็กพบมีอุบัติการณ์สูงมาก 10% และ 1 ใน 10 ก่อให้เกิดโรคหลอดลมเรื้อรัง ผู้ใหญ่ก็พบจำนวนไม่น้อย จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ต้องเรียนรู้ถึงอาการของโรค หากสงสัยจะได้รับการตรวจรักษา ดังนั้น หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต อายุรศาสตร์ รพ.จุฬาฯ จึงจัดกิจกรรมนี้จนถึงวันที่ 27 พ.ค. มีนิทรรศการให้ความรู้ การเสวนา และการตรวจวัดมวลกล้ามเนื้อ-ไขมัน ตรวจสมรรถภาพปอดฟรี


ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ พบคนไข้โรคหลอดลมเรื้อรังจำนวนมากขึ้น การดูแลและอาการแตกต่างกัน ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าเป็นโรคหลอดลม เพราะไม่ทราบอาการเป็นอย่างไร จึงยังไม่เข้ารับการวินิจฉัย ดังนั้น รพ.จุฬาฯ จึงจัดงานนี้เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ ทั้งนี้ โรคหลอดลมเรื้อรัง คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดลม อาจจะเกิดจากการอักเสบเรื้อรังหรือเกิดจากการที่ผนังหลอดลมผิดปกติ หรือมีการอุดกั้นของหลอดลม คนไข้กลุ่มนี้เมื่อได้รับมลพิษทางอากาศหรือติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีอาการเด่นชัดขึ้นหรืออาการกำเริบได้ โรคหลอดลมเรื้อรังที่พบบ่อย เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมโป่งพอง อาการของโรคหลอดลมเรื้อรังที่พบบ่อยคือ ไอ อาจจะมีหรือไม่มีเสมหะ เหนื่อย ทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง บางครั้งได้ยินเสียงหวีดออกจากทรวงอก ถ้ามีอาการติดต่อกัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสียชีวิตของคนไทย 75% มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจาก 5 พฤติกรรมเสี่ยงใกล้ตัว คือ บุหรี่ แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ตอนนี้มีบุหรี่ไฟฟ้ากำลังมาแรง โดยเฉพาะมีกลยุทธ์จูงใจให้กลุ่มเด็กเยาวชนเข้าถึงง่าย, แอลกอฮอล์, อาหารการกินหวาน มัน เค็ม, พฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ออกกำลังกาย และมลภาวะทางอากาศ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้และป้องกันได้




กำลังโหลดความคิดเห็น