xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลย้ำ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้สิทธิบัตรทอง รับบริการฟอกไตด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง ผ่านเครื่อง APD ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล ย้ำ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้สิทธิบัตรทอง รับบริการฟอกไตด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง ผ่านเครื่อง APD ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ยืนยันนโยบายรัฐบาล มุ่งดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ สปสช. หนุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังใช้สิทธิบัตรทอง รับบริการฟอกไต ด้วยเครื่องล้างไตทางหน้าท้องอัตโนมัติ (APD) ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท สามารถรับบริการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตทางหน้าท้องผ่านเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ ผู้ป่วยสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวัน หรือออกไปทำงานในตอนกลางวันถึงช่วงเย็นได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ จะล้างเพียง 1 ครั้งต่อวัน โดยใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยสามารถเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนได้เลย ซึ่งจะต่างจากวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 รอบต่อวัน และต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 4-6 ชั่วโมง

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า สปสช. เผยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีการให้บริการด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติราว 2,500 เครื่อง ซึ่ง สปสช. อยากให้ผู้ที่มีความพร้อมได้เข้าถึงให้มากขึ้น จึงได้ประสานไปยังหน่วยบริการหลายแห่งว่าถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ สปสช. ยังมีเครื่องดังกล่าวอีกจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุนให้ โดยวิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่สุขสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นจุดสำคัญที่ สปสช. พยายามผลักดันให้มีการนำเครื่อง APD ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงบริการนี้มากยิ่งขึ้น และปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 170-200 รายต่อเดือน นอกจากนี้ สปสช. ได้ตั้งเป้าที่จะเร่งขยายบริการนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้นในปี 2566 เพราะแต่ละวิธีในการบำบัดทดแทนไตจะเหมาะกับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตนั้น ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มี 4 รูปแบบ คือ 1. การล้างไตทางการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน 3. การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติ (APD) และ 4. การปลูกถ่ายไต โดยวิธีเหล่านี้ผู้ป่วยยังสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ได้ด้วย

“ปัจจุบันสถานการณ์ไตวายเรื้อรังในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 ของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตทั้งหมด หรือราว 8 ล้านคน และในจำนวนนี้มี 80,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ล่าสุด ปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามผลักดันบริการส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ โดยการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่อง APD เป็นวิธีใหม่ในระบบ ที่ สปสช. ได้เล็งที่จะเร่งขยายบริการนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะถึงแม้แต่ละวิธีในการบำบัดทดแทนไตจะเหมาะกับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ของประเทศไทย สปสช. เชื่อว่า การล้างไตทางหน้าท้องแบบอัตโนมัติ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับบริบทการดำรงชีวิตของผู้ป่วยมากที่สุด เพราะการมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ป่วยบางคน ซึ่ง สปสช. มีนโยบายส่งเสริมผู้ป่วยที่รับเครื่องไป ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และมีการส่งน้ำยาไปถึงบ้านผ่านระบบไปรษณีย์ไทย ทั้งนี้ สิทธิบัตรทองรับบริการฟอกไต ด้วยเครื่อง APD ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสะท้อนถึงนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น