xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงานผลงาน "บัตรทอง" ปี 65 ใช้งบ 1.98 แสนล. คนไทยเข้าถึง 99.4% บริการ OPD 167 ล.ครั้ง IPD 6.2 ล.ครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดรายงานผลดำเนินการ "บัตรทอง" ปีงบ 65 พบรับงบ 1.98 แสนล.บาท ดูแลผู้มีสิทธิกว่า 47 ล้านคน ครอบคลุม 99.4% พบบริการผู้ป่วยนอก 167 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 6.2 ล้านครั้ง รักษาข้ามจังหวัด 3.8 ล้านครั้ง เพิ่มการเข้าถึงโรค ยา ส่งเสริมป้องกันโรค และกองทุนเฉพาะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินงานของบัตรทองแต่ละปี มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรายงานผลงานตามนโยบายและงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ต่อ ครม.สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งปีงบประมาณ 2565 ได้รับการจัดสรรงบจากรัฐบาล 198,891.79 ล้านบาท (รวมเงินเดือนผู้ให้บริการ) สามารถดูแลประชาชนทั่วประเทศให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ซึ่งมีประชากรผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 47.46 ล้านคน สร้างครอบคลุมผู้มีสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 99.40

ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัว 3,329.22 บาทต่อประชากรสิทธิบัตรทอง ดูแลให้เข้าถึงบริการ ดังนี้ ผู้ป่วยนอกรับบริการ 167.37 ล้านครั้ง (3.53 ครั้ง/คน/ปี), ผู้ป่วยในรับบริการ 6.20 ล้านครั้ง (0.13 ครั้ง/คน/ปี) ส่วนบริการกรณีเฉพาะปีนี้จากการเพิ่มเติมการเข้ารับบริการนอกเครือข่ายกรณีที่จำเป็นนั้น เฉพาะบริการอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่มีการใช้บริการข้ามจังหวัดและกรณีคนพิการที่รับบริการต่างหน่วยบริการ มีการรับบริการ 3,801,867 ครั้ง

ส่วนบริการกรณีเฉพาะในกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่มีปัญหาการเข้าถึงนั้น เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้ยาละลายลิ่มเลือด 3,501 ครั้ง, ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ได้รับยาละลายลิ่มเลือด 6,907 ครั้ง, ได้รับเคมีบำบัด หรือฮอร์โมน หรือรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง 762,343 ครั้ง, ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาในผู้ป่วยโรคต้อกระจก 122,504 ครั้ง ทันตกรรมจัดฟันและฝึกพูด ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ 858 คน และบริการนอกเวลาราชการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีที่มีเหตุสมควรและเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชน 254,525 ครั้ง

กรณีเฉพาะในกลุ่มการใช้บริหารหัตถการในโรคที่มีปัญหาการเข้าถึง ลดความเสี่ยงด้านการเงินของหน่วยบริการ อาทิ ชดเชยค่าอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดรักษาโรค 3,577,448 ชิ้น บริการรักษาด้วยออกซิเจนที่มีความกดดันสูง 25 ครั้ง จัดหาและจัดเก็บดวงตาสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 426 ดวงตา ผ่าตัดปลูกถ่ายและเปลี่ยนอวัยวะ ได้แก่ ปลูกถ่ายตับ 75 คน รับยากดภูมิ 445 คน, ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ 15 คน รับยากดภูมิ 120 คน, ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเม็ดเลือดในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคไขกระดูกผิดปกติ รวม 124 คน
ส่วนการดูแลการเข้าถึงยาอย่างต่อเนื่องกลุ่มที่ต้องกำกับการใช้บริการอย่างใกล้ชิด อาทิ ได้รับสารเมทาโดนสำหรับบำบัดรักษาระยะยาว 9,623 คน รับยา จ(2) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 60,859 คน รับยากำพร้า ยาต้านพิษ 7,534 คน นอกจากนี้ ยังมีบริการโรคที่ต้องบริหารจัดการเฉพาะโรค อาทิ ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ได้รับเลือดและยาขับเหล็กต่อเนื่อง 11,138 คน ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาด้วยยาวัณโรค 76,423 คน บริการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแบบเข้มข้นในกลุ่มเสี่ยง 1,459,490 คน และผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคอง 51,441 คน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3,936,739 คน บริการวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา 712,358 คน บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ อาทิ คนพิการลงทะเบียน ท.74 จำนวน 1,292,496 คน คนพิการที่ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วย 30,003 คน บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 3,029,448 ครั้ง บริการการแพทย์แผนไทย อาทิ บริการนวด ประคบ อบสมุนไพร 3,081,637 ครั้ง บริการฟื้นฟูแม่หลังคลอด 41,763 คน และบริการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 12,121,607 ครั้ง ฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ 2,169 คน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนกองทุนเฉพาะ ทั้งบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ได้รับยาต้านไวรัส 297,566 คน กลุ่มเสี่ยงที่ได้บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 198,199 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้รับการบำบัดทดแทนไต 82,463 คน ผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงได้รับบริการควบคุมและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน 4,156,119 คน ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้รับการดูแลในชุมชนตามแผนการดูแลรายบุคคล 10,723 คน หน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติม 225 แห่ง ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มติดบ้านติดเตียง ทุกสิทธิ ทุกกลุ่มอายุ ได้รับการดูแลที่บ้านตามแผนการดูแลรายบุคคล 201,291 คน และบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว และบริการสุขภาพวิถีใหม่ 1,745,633 ครั้ง และภายใต้การดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ ยังมีการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข 11,165 คน และช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการที่ได้รับบริการที่ได้รับ่ความเสียหาย 1,118 คน

“ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เบิกจ่ายงบประมาณ บริหารจัดการต่างๆ ทำให้คนไทยได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นอีกหนึ่งปีที่ได้เริ่มสิทธิประโยชน์และบริการใหม่ๆ ทั้งเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ ดูแลผู้ป่วยโควิด และยกระดับสายด่วน 1330 สู่ Contact Center เป็นต้น รวม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น