xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.กลาง สั่งยกฟ้อง คดี “สาธิต รังคะสิริ” ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งชดใช้เงินกว่า 854 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค. กลาง ชี้ คำสั่งกรมสรรพากรให้ “สาธิต รังคะสิริ” อดีตอธิบดีชดใช้ 854 ล้าน เหตุร่วมทุจริตอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 พันล้านชอบด้วย กม. สั่งยกฟ้อง
วันนี้ (31 พ.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายสาธิต รังคะสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร และอธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากรที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธ.ค 60 ที่ให้ นายสาธิต ชดใช้เงินจำนวน 854,943,021.65 บาท จากเหตุร่วมกับ นาย ศ. อดีตสรรพากรพื้นที่ 22 กรุงเทพมหานคร ทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 3,000 ล้านบาท เหตุเกิดช่วงปี 55-56 โดยศาลเห็นว่า ข้อโต้แย้งของนายสาธิตในหลายประเด็นไม่อาจรับฟังได้ ทั้งการอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม คำสั่งพิพาทไม่ชอบเพราะเหตุอายุความในการออกคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กำกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้ทำการสอบจนยุติในทุกประเด็น และไม่ได้เปิดเผยสำนวนการสอบข้อเท็จจริงจึงไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
ส่วนการทำละเมิดของ นายสาธิต ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับกรมสรรพากรหรือไม่ ศาลเห็นว่า จากการไต่สวนของ ป.ป.ช. แล้ว เห็นได้ชัดแจ้งว่า มีกลุ่มบริษัทจำนวน 25 บริษัท เป็นผู้ประกอบการส่งออกเศษโลหะและแร่โลหะที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง แต่ได้ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนาย ศ. อนุมัติให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าว ต่อมา เมื่อนางสาว ข. ได้มีหนังสือรายงานให้นายสาธิต รับทราบถึงความผิดปกติของการคืนภาษีของ สท.กทม. 22 นายสาธิต ในฐานะอธิบดีย่อมมีอำนาจบังคับบัญชาจึงต้องตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคืนภาษีให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย โดยให้ระงับยับยั้งการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้ทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากถ้อยคำของพยานและผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาย ศ. ซึ่งให้ถ้อยคำว่า นายสาธิต ได้ฝากรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการอ้างฝ่ายเดียว แต่จากพฤติการณ์ของนายสาธิตที่ไม่ระงับยับยั้งให้ชะลอการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ นางสาว ข. ได้เสนอความเห็นก็ดี การที่ นายสาธิต ได้เข้าตรวจเยี่ยม สท.กทม.22 โดยให้แนวปฏิบัติกรณีการคืนภาษีให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องชะลอไว้เป็นเวลา 6 เดือนก็ดี และรวมถึงการที่กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้โอนเงินจำนวน 179,869,250 บาท เพื่อเป็นค่าซื้อทองคำแท่งในชื่อของนายสาธิต ก็ดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่า ทองคำแท่งดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่นายสาธิต ได้มาโดยชอบจากทางทำมาหาได้ทางอื่น จึงฟังได้ว่าเป็นทองคำแท่งที่ได้รับมาเกี่ยวโยงกับเงินของกลุ่มบริษัทดังกล่าว
อีกทั้ง ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่า ทรัพย์สินตามรายการสั่งซื้อทองคำแท่งในชื่อของนายสาธิตดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐาน และพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายสาธิต จึงเชื่อได้ว่า ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้ใช้หรือร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดเพื่อให้นาย ศ. คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทที่ได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไปโดยมิชอบทั้งสิ้น 3,206,066,331 บาท

“พฤติการณ์ของนายสาธิตที่เป็นผู้ใช้หรือร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดดังกล่าว เพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์เป็นทองคำแท่ง ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร ที่ต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ถือได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการกระทำละเมิดต่อกรมสรรพากร ด้วยความจงใจ นายสาธิต จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมสรรพากร ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”
ส่วนจะต้องชดใช้เพียงใด เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้มีมติให้จัดกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิด โดยกำหนดให้นายสาธิตกับผู้ต้องรับผิดอีก 2คน อยู่ในกลุ่มกระทำการไปด้วยมีเจตนาหรือจงใจทุจริต ให้ชดใช้ในอัตราร้อยละ 80ของความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จึงเป็นการกำหนดให้นายสาธิตรับผิดโดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรม และให้รับผิดเฉพาะส่วนของตนตามมาตรา 8 วรรคสองและวรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ อีกทั้งมิได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดที่สูงเกินไปกว่าที่กำหนดตามหนังสือกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ข้ออ้างต่างๆ ของนายสาธิต ยังถือไม่ได้ว่าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของกรมสรรพากร หรือระบบงานส่วนรวมที่จะต้องหักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วยตามมาตรา 8วรรคสาม แห่ง พรบ.ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น กรมสรรพากรโดยอธิบดีกรมสรรพากร มีคำสั่งกรมสรรพากรให้นายสาธิต รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงินจำนวน 854,943,021 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นายสาธิต รังคสิริ กับพวก ร่วมทุจริตฯ อนุมัติคืนภาษี 25 บริษัทให้ริบทองแท่งของกลางร่วมกันชดใช้ความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น