xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” ชี้ เสียงสูสีไม่แปลก พท.ขอ ปธ.สภา ย้ำเป็นกลางตามอำเภอใจไม่ได้ ย้อน “สุชาติ” ตีตกยกเลิก ม.112 ก.ก.ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นายหัวชวน” อดีต ปธ.สภาฯ ชี้ไม่แปลกหาก พท.จะต่อรองเก้าอี้ ปธ.สภาฯ เพราะได้เสียงสูสี ต่างกับที่ผ่านมา ย้ำ หน้าที่ ปธ.ต้องเป็นกลาง ทำตามอำเภอใจไม่ได้ แจง “สุชาติ” เป็นคนสกรีนร่าง กม.ก่อนบรรจุเข้าสภาฯ ตีตกร่างยกเลิก ม.112 ก้าวไกล เพราะขัด รธน. ระบุใช้ดุลพินิจถูกต้อง

วันนี้ (31 พ.ค.) นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใหม่ ว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมสภาฯ เพราะตามปกติพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก จะได้เป็นประธานสภา ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลเต็มใจ และไม่หักโควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเหตุผลที่ตนรับทำหน้าที่ เพราะเห็นว่า ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่มีสภาฯ มา 5 ปี จึงรับหน้าที่เป็นประธานสภาฯ แม้หลังเลือกตั้งใหม่ มีการประเมินว่า สภาฯ อยู่ได้เพียง 1-2 ปี แต่ด้วยความร่วมมือจากสมาชิก ทำให้สามารถอยู่จนครบ 4 ปี และทำหน้าที่ได้สมบูรณ์​

นายชวน กล่าวต่อว่า สำหรับตำแหน่งประธานสภาฯ โดยทั่วไปหากย้อนกลับไปพรรคที่เป็นรัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก ก็จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อรายละเอียดพรรคที่มีเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาลจะได้เป็นฝ่ายค้าน เช่น กรณีพรรคความหวังใหม่ ได้ 125 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 123 เสียง ห่างกัน 2 เสียง แต่ทั้ง 2 พรรค ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ดังนั้นพรรคความหวังใหม่ ก็ตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีเอง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่มีประเด็นการต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ แต่ในกรณีที่มีการถกเถียงคะแนนของพรรคที่มาร่วมรัฐบาล มีความใกล้เคียงกัน คือ 151 กับ 141 จึงเป็นประเด็นใหม่ ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยเสนอขอเป็นประธานสภาฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคะแนนไม่ห่างกันมาก

ส่วนที่จะใช้ตำแหน่งประธานสภาฯ ทำประโยชน์ให้พรรคการเมืองตัวเองนั้น นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด ดังนั้น ขอให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญ และข้อบังคับสภาฯ ดูว่า ประธานสภา มีหน้าอะไรบ้าง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ประธานสภาฯ สามารถเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัจจุบันเขาลงมติกันในสภาฯ เมื่อสภาฯ เลือกใคร ประธานสภาฯ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ และมีหน้าที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปตามข้อกำหนด ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง สมมติเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ก็ต้องลาออก เพราะเขาต้องการประธานที่มีความเป็นกลาง และต้องเข้าใจกฎหมายจะไปทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่จะถ่วงเวลาก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องมีกำหนดเวลาไว้อยู่แล้ว และในทางปฏิบัติเขาจะร่วมมือกัน และต้องมองความเป็นจริงว่าใครมาเป็นประธานสภาฯ ก็ตาม ต้องพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ ส่วนเรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายที่จะเสนอ แต่ไม่มีข้อวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม

นายชวน กล่าวต่อว่า อีกส่วนคือ กรณีที่พรรคก้าวไกล พยายามเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 เมื่อสภาฯชุดที่ผ่านมา ขอถือโอกาสเรียนข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลที่ออกมาพูดกันอาจจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะในสภาฯ ยุคที่ตนเป็นประธาน การทำหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาฯ มีการแบ่งหน้าที่กัน โดย นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 รับผิดชอบการพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เสนอเข้ามายังสภาฯ ทุกฉบับ จะเห็นชอบไม่ชอบอย่างไรก็จบ โดยไม่ได้ผ่านประธานสภาฯ ขณะที่ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จะดูเรื่องญัตติ และกระทู้ถาม นี่คือ กระบวนการกระจายอำนาจ

“ดังนั้น ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอยกเลิกมาตรา 112 จะมี ท่านสุชาติเป็นผู้ดูแล และจากการปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาฯ พบว่า ขัดรัฐธรรมนูญ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดละเมิดไม่ได้ ซึ่ง ท่านสุชาติ รอบคอบมาก และนอกเหนือจากฝ่ายกฎหมายแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาฯ อีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ ท่านสุชาติ ไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไข นี่คือ ที่มา จึงยืนยันได้ว่า ไม่มีการกลั่นแกล้ง เพราะมาไม่ถึงผม แต่จากที่พิจารณามองว่า ท่านสุชาติ ใช้ดุลพินิจถูกแล้ว จึงขอให้เข้าใจเรื่องนี้ว่า ที่มาวิจารณ์หรือตำหนิอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง” นายชวน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น