“ส.ว.สมชาย” โพสต์ยืนยัน ถึงขณะนี้ ส.ว.ที่จะโหวตให้ “พิธา” แน่นอน มีแค่ 5-6 คน ไม่จริงอย่างที่เคลม 19-20 คน ส่วนใหญ่ยังมีเวลาให้พิจารณา เชื่อ ส.ว.พิจารณาอย่างมีวุฒิภาวะและวิจารณญาณ เตือน อย่าขู่ไป-เคลียร์ไป-เคลมไป ย้ำอย่ากดดันรวบรัดกัน ไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองที่ดี
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“#กลวิธีหาเสียงสวโหวตนายกหรือไง
#อย่าขู่ไปเคลียร์ไปเคลมไป
#สวทำหน้าที่อย่าขู่ไม่มีกลัว
#ดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด
เห็นคนจากพรรคการเมืองสัมภาษณ์ และออกสื่อเคลมรายวัน ว่า มี ส.ว.หนุนแล้วเท่านั้นเท่านี้ อ้างสื่อในทีมก็อ้างว่ามีมากขึ้นทุกวัน มากถึง 19-20 คนบ้าง กำลังเจรจาบ้าง อ้างและเคลมว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 20-40 คนนั้น ขอพูดในฐานะคนใน ส.ว.ว่า ตรวจสอบแล้วและยืนยันว่า ไม่จริงครับ
#อย่าเคลม
เพราะตรวจสอบแล้ว มี ส.ว.ที่ประกาศตัวระบุชื่อว่าจะเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาจไม่พิจารณาคนอื่นนั้น เวลานี้เพียงแค่ 5-6 คนเท่านั้น
เมื่อตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาที่ทุกท่านล้วนมีวุฒิภาวะ หลายท่านแสดงเจตนารมณ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ
ซึ่งอยากแบ่งเป็นหลายกลุ่ม พอสรุปได้ดังนี้
1) กลุ่มที่รับพิจารณาว่าจะโหวตตามเสียงข้างมาก ข้อเท็จจริงยังมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือน จึงจะถึงวันโหวตและเห็นของจริงว่า มีการเสนอชื่อและพรรคร่วมแข่งขันกันหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่อาจให้เคลมว่า ส.ว.กลุ่มนี้ท่านตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯแล้ว
2) กลุ่มที่มีเงื่อนไขไม่ต้องการให้แก้ไขมาตรา 112 และรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะความเป็นราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ หมวดพระมหากษัตริย์และมาตราที่เกี่ยวข้อง
3) กลุ่ม ส.ว.ที่ปิดสวิตช์ตัวเอง ด้วยการโหวตงดออกเสียง
4) กลุ่ม ส.ว.ส่วนใหญ่ คาดว่า อาจจะมากถึงร้อยละ 80 ยังคงติดตามข่าวสาร ตรวจสอบข้อมูล องค์ประกอบต่างๆ โดยมีเกณฑ์พิจารณาคล้ายกันหรือแตกต่างกันไป เช่น คุณสมบัติ ความประพฤติ พฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ทิศทางการนำพาประเทศเจริญก้าวหน้า สงบสุข และมีความมั่นคงในชาติ นโยบายการต่างประเทศ และอื่นๆ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า ส.ว.ทุกท่านพิจารณาอย่างมีวุฒิภาวะและมีวิจารณญาณในวันโหวตแน่นอนครับ
ย้ำว่า ขอให้พรรคการเมืองต่างๆ เดินตามครรลองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่าทำแค่ลมปาก ชมไปดีไปเคลมไป
รอขั้นตอนที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ คือ
- รอประกาศรับรอง ส.ส.จาก กกต.ใน 60 วัน
- รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา
- เลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา
- ประธานรัฐสภานัดประชุมเพื่อโหวตเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี
ดู timeline ทั้งหมดยังมีเวลาให้พิจารณาแน่นอน
อย่ากดดันรวบรัดกัน
บอกตามตรงว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองที่ดีครับ
#ประชาธิปไตยที่ดีต้องมีคุณธรรม”