สภาสูงคุยนอกรอบเลือกนายกฯ 23 พ.ค.นี้ “มณเฑียร” ไล่พรรคขั้วตั้งรัฐบาลไปรวมเสียงให้ได้ 376 ดีกว่า อย่ามาเสี่ยงหวังเสียง ส.ว.เพราะน่าหวาดเสียว! ยัน เปิดกว้าง ก้าวไกล ส่งตัวแทนมาคุยก่อนโหวตเลือก “พิธา”
วันนี้ (17 พ.ค.) นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ว่า วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิม โดยก่อนหน้านี้ เคยเป็น ส.ว.คนหนึ่งที่ร่วมลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 272 ที่พรรคการเมืองในสมัยที่แล้ว เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้ตัดอำนาจปิดสวิตช์ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยตนโหวตเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวถึงสามครั้งในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา แต่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นชอบด้วย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่สำเร็จ ทำให้ก่อนหน้านี้ตอนก่อนวันเลือกตั้ง ก็ได้เคยบอกไว้ว่า หลังเลือกตั้งเมื่อจะมีการโหวตเลือกนายกฯ จะขอใช้สิทธิ์"งดออกเสียง"ในการโหวตเลือกนายกฯ
แต่หลังเลือกตั้งเสร็จ ยอมรับว่า วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีหลายคนตั้งคำถามว่า การที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง หมายถึงการไม่เห็นด้วยกับชื่อแคนดิเดตนายกฯที่เสียงข้างมากเสนอมาใช่หรือไม่ เพราะการงดออกเสียง ก็หมายถึงการไม่เห็นด้วยกับชื่อที่เสนอมา ซึ่งมันไม่ใช่จุดประสงค์ของการปิดสวิตช์ เพราะการปิดสวิตช์ คือ การไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการเลือกนายกฯ แต่เมื่อภารกิจการเลือกนายกฯยังอยู่ การที่ผมเคยบอกไว้ว่าจะขอปิดสวิตช์ตัวเอง ดูแล้วคงอาจนำมาใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ตอนนี้ ทำให้ผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร คือหากจะให้บอกว่าจะงดออกเสียงตอนนี้ แต่ก็ปรากฏว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดว่า คนที่จะถูกเสนอชื่อที่มาจากเสียงข้างมากของสภาฯ คือใคร ยังฟันธงไม่ได้ เพราะเหลือเวลาอีกเดือนกว่า
แต่สิ่งที่ผมไม่เข้าใจ ก็คือ ก่อนเลือกตั้ง มีแต่คนบอกว่าอยากให้สว.ปิดสวิตช์ตัวเอง แต่มาวันนี้ กลับมีแต่คนบอกว่าไม่อยากให้ส.ว.ปิดสวิตช์ตัวเอง ไม่มีใครพูดถึงคำนี้เลย เราก็เลยไม่แน่ใจว่า ตกลงจะให้ ส.ว.ปิดสวิตช์ตัวเองไหม ส.ว.หลายคนก็บอกกันว่าตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ จะให้โหวตหรือจะให้ปิดสวิตช์ บางคนก็บอกว่าขอดูนโยบายของฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากก่อน
“ผมก็เลยขอบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้ก็คือ ยังไม่ทันนิ่งเลย ผมเลยยังไม่กล้าเหยียดแข้ง เพราะผมยังยืนอยู่ ยังไม่ได้นั่งลง หากไปเหยียดแข้ง มันก็จะล้ม ส่วนหากชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอมา คือ พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล มันก็ขึ้นอยู่ว่าเขารวมเสียงข้างมากในสภาฯได้จริงหรือไม่ ตอนนี้มันยังไม่มีหลักฐานปรากฏ เขาก็เคลมของเขา แต่ผมไม่มีปัญหากับเขา
แต่การรวมเสียงในสภามันยังไม่ตกผลึกเลย ผมก็มองว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงวันโหวต มันยังอาจมีอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ เรายังไม่รู้ มันอาจมีอะไรเกิดขึ้น แต่หากเขารวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง ผมก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะ ส.ว.มีเอกสิทธิ์ส่วนตัว ส.ว.ไม่มีระบบพรรค ส่วนที่บอกว่า ส.ว.ชุดนี้มาจาก คสช. แต่ว่าตอนนี้ คสช.มันไม่มีแล้ว ไม่มีใครมาส่งสัญญาณอะไร ส.ว.ตอนนี้บอกเลยว่า ก็ตัวใครตัวมันแล้ว ไม่มีใครมาสั่งการอะไรได้” นายมณเฑียร กล่าว
นายมณเฑียร กล่าวว่า ความเห็นของผม คือ ทางที่ดีที่สุด ทาง ส.ส.ไปคุยกันให้ดีๆ กว่าในฝ่าย ส.ส.ด้วยกันเอง อย่ามาหวังพึ่งคะแนนจาก ส.ว. เพราะไม่รู้ว่าหวังพึ่งไป จะได้กี่คะแนนก็ไม่รู้ เพราะตอนพรรคการเมืองเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.แก้ไข 272 ตอนนั้นก็เห็นพวก ส.ส. จากพรรคการเมือง สามัคคีกันดี ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขมาตรา 272 แล้วตอนนี้ความสามัคคีตรงนั้นมันหายไปไหน
“ผมว่าถ้าไปคุยกันให้ดีๆ ระหว่าง ส.ส.ด้วยกันเอง มันแน่นอนกว่า อย่ามาหวังความไม่แน่นอนจาก ส.ว. ถ้าเป็นผม ผมหวาดเสียวเลย เพราะมันไม่มีใครไปสั่งใคร หรือไปโน้มน้าวอะไรได้ ส่วนจะมีสว.งดออกเสียงกันเยอะหรือไม่ คงตอบไม่ได้ ยืนยันไม่มีใครมาคุยอะไรกับผม”
เมื่อถามถึงกรณีวุฒิสภานัดประชุมสมัยวิสามัญนัดพิเศษ วันอังคารที่ 23 พ.ค. ที่จะมีวาระสำคัญเรื่องการเห็นชอบบุคคลให้ไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระหลายแห่งนั้นที่จะมีสว.สองร้อยกว่าคนมาที่รัฐสภา จะมีการพูดคุยกันนอกรอบตามวงต่างๆ เพื่อหารือเรื่องการโหวตนายกฯหรือไม่ นายมณเทียรกล่าวว่า ก็คงมีการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนฝูง แต่สำหรับผม ไม่มีวาระแบบนั้น ส่วนที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่าอาจจะส่งตัวแทนมาคุยกับสว.ก่อนการโหวตเลือกนายกฯนั้น สำหรับผม คงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผมไม่มีปัญหา ประชาธิปไตยก็คือทุกคนต้องคุยกันได้ แต่ไม่ได้หมายถึงจะมาพูดคุยเพื่อจะมาฮั้ว มาล็อบบี้ แต่ต้องเป็นการพูดคุยเพื่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความเห็นกัน แบบนี้คุยกันได้ ไม่มีปัญหา คงไม่มีการปิดประตู
ส่วน พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกวุฒิสภา สายอดีตข้าราชการทหาร บอกว่า ยังไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ จะขอรอดูความชัดเจนก่อน และไปตัดสินใจวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเลย
ด้านแหล่งข่าวจากสมาชิกวุฒิสภา บอกว่า การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ นัดพิเศษ วันอังคารที่ 23 พ.ค. ที่จะมี ส.ว.มาร่วมประชุมกันจำนวนมาก เพื่อโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ บุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คาดว่า ส.ว.เมื่อเจอกันแล้ว ก็คงมีการพูดคุยกันนอกรอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายสภา และการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แต่คงเป็นการพูดคุยกันแบบวงหารือกันเอง ตามวงต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นข้อมูลกัน เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถนำไปคุยในวิปวุฒิสภาอะไรได้ เพราะเป็นการโหวตของสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวอะไรกับวิปวุฒิสภา
โดย ส.ว.หลายคน ยอมรับว่า ต้องรอดูหน้างานวันโหวตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นอย่างไร เช่น จะมีแคนดิเดตนายกฯ เสนอชื่อมากี่คน ฝ่ายพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลจะเสนอชื่อใครแข่งมาหรือไม่ รวมถึงคงดูว่า จนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ทางพรรคก้าวไกล มีความชัดเจนเรื่องนโยบายแก้ 112 อย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจของ ส.ว.แต่ละคน