“สมศักดิ์ เจียม” ทิ้งปริศนา ชัยชนะเลือกตั้ง “ก้าวไกล” หลังจากฉลองแล้วบอกตัวเอง นี่เป็นเพียงจุดเล็กๆ คงไม่สมหวังอีกหลายครั้ง “โบว์ ณัฏฐา” ชี้ ปมโหวตเลือกนายกฯ เชื่อสุดท้าย แกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ “พรรคเพื่อไทย”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 พ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดี ม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า
“ชัยชนะของก้าวไกลนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี
แต่หลังจากฉลองชัยชนะแล้ว ต้องบอกตัวเองว่า นี่เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น นับจากนี้ คงไม่สมหวังอีกหลายครั้ง
เราต้องพยายามต่อไป”
ขณะเดียวกัน “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว @NuttaaBow ระบุว่า
“การโหวตเลือกนายกฯ ในรัฐสภา อาจต้องทำถึงสองสามรอบ จึงลงตัว สุดท้ายคนที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ว่า ขอรอดูให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของ ส.ว. ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภา และเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่มีหน้าที่ แต่เป็นเรื่องของสภา ในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
เมื่อถามว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศตั้งรัฐบาล 309 เสียง นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรอให้ถึงเวลาพิจารณาก่อน เพราะขั้นแรก ส.ส. ต้องไปรวมให้ได้มากกว่า 250 เสียง แต่เมื่อถึงขั้นตอนการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ คือ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงนี้ ส.ว.จะพิจารณา ซึ่ง ส.ว.ทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรอิสระต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทุกคนทุกองค์กร และทิศทางของการโหวตส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาเกือบจะเอกฉันท์แน่นอนอาจมีบางส่วนเห็นต่าง งดออกเสียง หรือโดดไปฝ่ายตรงข้ามก็เคยมี เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีทั้ง ส.ว.เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย และขั้วฝ่ายค้านเดิม ก็ขอให้รอถึงวันนั้นจึงจะพูดได้ เพราะพูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่เหมาะสม แล้วก็เป็นไปได้หมด ถ้าเกิดเลือกรอบแรกแล้วไม่ผ่าน เช่น คุณสมบัติไม่ผ่าน ก็อาจมีการงดออกเสียง พร้อมยกตัวอย่างว่า กกต. กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายๆ ปัจจัย
เมื่อถามว่า ส.ว.อาจถูกตำหนิ และถูกมองว่า ถ้าไม่เลือกฝ่ายที่ได้คะแนนจากประชาชน นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีธง แต่เรามองไปไกลว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เลือกใครมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มีความขัดแย้ง หรือทำให้มีการเดินลงถนนอีกหรือไม่ ต้องมองหลายมิติ จึงขอให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้ว ส.ว.จะตัดสินใจเพื่อบ้านเพื่อเมือง
ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงเพื่อลงมติเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 เสียง) เนื่องจาก “ส.ว. 250 คน” ตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี (ปีสุดท้าย จากที่กำหนดไว้ 5 ปี)