xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงป้อม”พลิกหักมุม ก้าวข้ามโทนี่-ก้าวไกล!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

ถือว่าชัดเจนเป็นครั้งแรก สำหรับพรรคพลังประชารัฐและ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับท่าทีไม่ร่วมสังฆกรรม หรือร่วมรัฐบาลกับสองพรรค คือเพื่อไทย กับก้าวไกล โดยอ้างว่ามีบางนโยบายที่ไปกันไม่ได้ และเกิดความไม่สบายใจหากต้องทำงานร่วมรัฐบาลด้วยกัน

คำแถลงล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย ที่ย้ำว่ามีการหารือกับผู้บริหารของพรรคเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเขามีบทบาทในพรรคมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะความใกล้ชิดกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค สังเกตได้จากลำดับผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่อยู่ระดับต้นๆ ของพรรคทีเดียว

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคแถลงที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของ พปชร. ว่า พปชร. มีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งที่จะเดินหน้ากำจัดปัญหาความขัดแย้งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ขจัดความยากจนให้สิ้นไป โดยจะมีนโยบายนำเสนอมาอีกในเร็วๆ นี้ ส่วนจุดยืนของ พปชร. เรามีความเชื่อมั่นในหลักการที่จะดำเนินการกิจการต่างๆ ของพรรคให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้น กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เราจะไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลนั้น

“ผมขอถือโอกาสนี้ แถลงอย่างเป็นทางการว่า เราไม่ร่วมด้วยกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เราต้องการสร้าง พปชร.ให้เป็นพรรคที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ในจุดยืนที่ประชาชนยึดมั่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้พรรคเป็นที่พึ่งของประชาชนในการขจัดความยากจน การที่บางพรรคไปกล่าวอ้างต่างๆ นานา หรือมีกระแสข่าวแพร่ออกมา ไปจนกระทั่งเป็นความเข้าใจผิดว่าพรรคเราไปมีดีลร่วมกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ขอแถลงในวันนี้ว่า ไม่จริง และเราไม่ประสงค์ด้วย ไม่ประสงค์ที่จะร่วมมือใดๆ เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีอิสระ มีเอกภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ได้อย่างสมบูรณ์” นายไพบูลย์ กล่าว

ถามว่า ที่ประกาศว่าจะไม่จับมือ ได้มีการคุยกับหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคแล้ว ใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ได้คุยกับทางผู้ใหญ่ของพรรคแล้ว เราไม่ร่วม ขอให้เกิดความชัดเจน เมื่อถามย้ำว่า การประกาศไม่ร่วมเฉพาะช่วงนี้ หรือหลังการเลือกตั้ง ค่อยว่ากันอีกที นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลักการไม่ร่วม ก็เป็นหลักการไม่ร่วม และเหตุผลที่เราไม่ร่วม เพราะมีนโยบายที่เรารับไม่ได้หลายเรื่อง เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านั้น

เมื่อถามว่า จะสวนทางกับแนวทางพรรคที่ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่เราไม่ร่วม เกิดจากการไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเหล่านั้น เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ไปสร้างความรุนแรงหรือไปทำอะไรต่างๆ เพียงแค่แถลงจุดยืนว่า เราไม่สบายใจกับนโยบายต่างๆ ของพรรคที่เอ่ยไป ต่อข้อถามว่านโยบายเรื่องอะไรบ้างที่ไม่เห็นด้วย นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขอเว้นส่วนนั้นไว้ แต่คงจะทราบกัน ขอให้ดูเอาก็แล้วกัน

เมื่อถามว่า ที่แถลงในวันนี้ เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยประกาศไม่ร่วมทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่จริง ในช่วงที่ผ่านมา เราไม่แสดงความเห็น เพราะการเสนอนโยบาย ยังไม่มีความชัดเจน แต่เมื่อพรรคต่างๆ เสนอนโยบายมาแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะรู้ว่าพรรคไหนที่ร่วมได้ และร่วมไม่ได้ และรับนโยบายเหล่านั้นได้หรือไม่ และเมื่อเราดูทั้งสองพรรคนั้นเรารับไม่ได้ ซึ่งพรรคก้าวไกล มีปัญหามากที่สุด พรรคเพื่อไทย เป็นลำดับที่สอง ทั้งสองพรรคอยู่ในเกณฑ์ที่เราไม่สบายใจกับนโยบาย จึงคิดว่าไม่น่าร่วม

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังวิจารณ์ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ว่า ตนคิดว่ามีปัญหาร้ายแรงมาก จะทำให้เกิดปัญหาในข้างหน้า ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย เพราะการเสนอในลักษณะดังกล่าว เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงต้องมีกฎหมายรองรับ แต่ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับจะต้องนำเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา ซึ่งการแจกเงินในลักษณะหว่านแหไปทั่วหมด ขนาดมหาเศรษฐี คนร่ำรวย คนมีงานมีการทำ มีเงินหลายแสนก็ได้เงินเหมือนกันหมด เป็นแนวทางที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในนโยบายของพรรคการเมือง

“กระบวนการที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้จะต้องเสนอกฎหมายในสภา เชื่อว่าจะได้รับการต่อต้านในสภาอย่างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเชื่อว่าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกฎหมายนี้จะถูกยับยั้ง หรือหากผ่านไปเรื่องก็จะถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าศาลฯ จะพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการได้”

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำความชัดเจนให้กับประชาชนก่อน การหาเสียงในลักษณะที่ไปตายเอาดาบหน้า ตนไม่เห็นด้วย จะเป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ในส่วนของ พปชร. เราเสนอเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีกฎหมายรองรับไว้ชัดเจน เป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทุกคนในสังคมมีความประสงค์ที่อยากจะยกระดับให้บุคคลเหล่านั้นมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้น นโยบายของ พปชร.คือ ช่วยเหลือให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ก้าวข้ามความยากจนให้ได้

การประกาศท่าทีดังกล่าวของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ย้ำว่า “เป็นทางการ” และผ่านการปรึกษาหารือกับ “ผู้ใหญ่ของพรรค” แล้ว มันก็ถือว่าชัดเจนตามนั้นความหมายคือ “ตัดเชือก” กับพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลอย่างเด็ดขาด ก่อนรู้ผลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดีก็ ต้องมาพิจารณาถึงที่มาที่ไปและสาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐต้องมาแถลงแบบนี้ ซึ่งก่อนอื่นก็ต้องมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยและ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะประกาศยุติการโพสต์ และการสนทนาในคลับเฮาส์ กับกลุ่มแคร์ชั่วคราว มีการประกาศเป้าหมายใหม่ “เลือกให้ชนะขาด” จำนวน 310 ที่นั่ง เป็นการ“ตัดญาติ” กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีการประกาศ “ไม่ให้เลือกพ่วง” อะไรประมาณนั้น ความหมายที่ตามมาก็คือ เป็นลักษณะเปรียบเทียบแบบ “เก็บแบงก์ย่อย” คืนมาให้หมด

ขณะเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร ยังได้ประกาศ ไม่เคยพบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นานนับสิบปีแล้ว พร้อมกับสำทับทำนองว่า “ไม่โง่พอจะยกเก้าอี้นายกฯให้ป้อม” หรอก รวมทั้งมีการ “บูลลี่” เรื่อง “สังขาร” ตามมาอีก ซึ่งหากเป็นแบบนี้ก็เหมือนกับการ “แยกขั้ว” ออกมา ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเป็นการ ผลัก “ลุงป้อม” ไปอีกขั้วหนึ่ง

แต่ที่ผ่านมาทางพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่เคยมีคำตอบและท่าทีชัดเจนทำให้ข่าวคราวเรื่อง “ดีลลับ” ยังคลุมเครือ โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ แต่จากความคลุมเครือดังกล่าวในทางการเมืองถือว่าเป็นผล “ในทางลบ” กับพลังประชารัฐ และ “ลุงป้อม” มากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าเมื่อ “การเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว” และถือว่าเป็นธรรมชาติแบบนี้มานานนับสิบปีแล้ว ยังไม่อาจ “สลาย” หรือก้าวข้ามไปได้ชั่วข้ามคืน

และผลจาก “สองขั้ว” ที่ว่า นั่นคือฝั่งที่ “เอาทักษิณ” กับฝั่งตรงข้าม ซึ่งอย่างหลังมันก็มีแนวโน้มไปทาง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติของเขา ที่ได้ประโยชน์ไปมากกว่าใคร โดยเฉพาะ “กระแส” จากการเลือกตั้งแบบ “ยุทธศาสตร์” ที่ถูกบังคับให้เลือกข้าง

ดังนั้น การประกาศท่าที ไม่เอาเพื่อไทย และก้าวไกล ของพรรคพลังประชารัฐ และ“ลุงป้อม” เที่ยวนี้ มันก็เหมือนกับการหักมุมกระทันหัน เป็นการปรับกระบวนใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากความอึมครึมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อไม่เอา “โทนี่” และเพื่อไทย กับก้าวไกล ที่ชูเรื่องต่อต้านสถาบันฯ อีกความหมายหนึ่งก็คือ การจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเป็น “ขั้วการเมือง” ที่ชัดเจน เหมือนกับการรีบตัดเกมก่อนที่จะลงรูดมากไปจนยากเยียวยา !!


กำลังโหลดความคิดเห็น