xs
xsm
sm
md
lg

“แลนด์ไถล” ออกนอกทาง โพลย้ำพรรคร่วมกอดคอเข้าวิน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

อาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับ “โทนี่ วู้ดซั่ม” นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เมื่อผลโพลออกมาล่าสุด สรุปออกมาในโทนเดียวกัน นั่นคือ พรรคเพื่อไทยส่อเค้าจะไม่ไปถึงเป้าหมายค่อนข้างแน่ เพราะอย่าว่าแต่เป้าหมายใหม่ ที่หวังสูงเอาไว้ถึง 310 เสียงเลย แค่เป้าเดิมที่เคยเคาะเอาไว้ที่ 250 เสียง ยังห่างไกลอีกเยอะ ขณะที่ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลกลับมีคะแนนดีวันดีคืนจนรวมกันแล้วมีเสียงเกินร้อยละ 50 ไปไกลมาก

ผลสำรวจที่ว่านั้นก็คือ ผลของซูเปอร์โพล และ “โพลลับ” จากหน่วยงานความมั่นคงหน่วยงานหนึ่ง ที่มีรายงานข่าวออกมาในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ก็มีทิศทางไปทางเดียวกัน แม้ว่าค่าความละเอียดอาจจะแตกต่างกันก็ตาม

“ซูเปอร์โพล” เปรียบเทียบผลสำรวจจุดยืนทางการเมืองของประชาชนระหว่าง โพลเลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 เป็นร้อยละ 39.1 ในขณะที่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 29.6 เป็นร้อยละ 24.5 และกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 1 และร้อยละ 36.4 ในการสำรวจครั้งที่ 2

ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ กลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปรียบเทียบครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.6 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 ในครั้งที่ 2 โดยพบว่าเป็นการเทคะแนนมาจากกลุ่มพลังเงียบ

ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันลดลงจากร้อยละ 43.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทย เพิ่มจากร้อยละ 19.1 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 20.5 ในครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์เพิ่มจากร้อยละ 13.4 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 14.2 ในครั้งที่ 2 อันดับสามได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ในครั้งที่ 2 อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือกส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทยแต่ลดลงจากร้อยละ 36.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ในการสำรวจครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในครั้งที่ 2 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยยังคงเท่าเดิมคือ ร้อยละ 0.5 ในการสำรวจทั้งสองครั้ง

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ คนที่ประชาชนอยากได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในกลุ่มแฟนคลับของพรรคร่วมรัฐบาล อันดับแรกยังคงเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.0 ในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ในครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 12.2 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 12.9 ในครั้งที่ 2 และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจส่วนของฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรกยังคงเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แต่สัดส่วนลดลงจากร้อยละ 39.7 ในการสำรวจครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 32.1 ในครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.7 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 ตามลำดับ

รายงานผลสำรวจของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญเพราะจะเปลี่ยนไปมาได้โดยง่าย กลุ่มพลังเงียบน่าจะเป็นกลุ่มชี้เป็นชี้ตายชัยชนะผลการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เพราะหากไปสนับสนุนฝั่งใดฝั่งนั้นน่าจะเป็นฝ่ายที่จะถึงเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผลการศึกษาของซูเปอร์โพลยังพบด้วยว่าปัจจัยสำคัญทางการเมือง คือ ประชาชนหันมาสนใจติดตามข่าวการเมืองเพิ่มขึ้นรับรู้ผลงานของรัฐบาลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนมากขึ้น เป็นข้อได้เปรียบของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ข้อเสียเปรียบของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ ฐานเดิมไม่ได้ขยายเพิ่ม กลุ่มสวิงที่เปลี่ยนใจง่ายยังไม่เห็นผลงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านและบางส่วนมองว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง

ขณะที่ผลสำรวจที่อ้างว่าเป็น “โพลลับ” ของหน่วยงานความมั่นคงหน่วยงานหนึ่ง กลับมีรายละเอียด ในการรายงานถึงผลจำนวนส.ส.ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ โดยเริ่มจากพรรคเพื่อไทย ที่รวมทั้งสองแบบดังกล่าวจะได้ ส.ส.รวมประมาณ 160 ปลายๆ หรือบวกลบอีกสิบที่นั่ง ส่วนพรรคก้าวไกล ก็มีเสียงลดลงกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือ คงไม่ต้องพูดถึง เพราะลดลงจนน่าใจหาย บางพรรคส่อถึงขั้นสูญพันธุ์ก็มี

ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย กับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความคู่คี่ สูสีกัน อยู่ที่ราว 80-90 ที่นั่ง แต่มีแนวโน้มที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า โดยพรรคภูมิใจไทยคาดว่าจะได้ ส.ส.ในภาคอีสานเป็นกอบเป็นกำ ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ยังต้องลุ้นกันหนัก อย่างไรก็ดีสำหรับคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ถือว่าใช้ได้

ส่วน ประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ จากผลโพลลับที่ว่านี้ก็ยังถือว่าคงระดับในหลักสิบ ยี่สิบ รวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า ที่มีแนวโน้มมีที่นั่งมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี สำหรับโพลที่อ้างอิงหน่วยงานความมั่นคง กลับระบุที่สอดคล้องกับโพลของ “ซูเปอร์โพล” ที่ระบุว่า คะแนนนิยมของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.พินทองทา ชินวัตร แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ที่คะแนนลดลง แม้ว่าเมื่อเทียบกันในแต่ละพรรคก็ยังถือว่า “อุ๊งอิ๊ง” ยังนำโด่งก็ตาม

แน่นอนว่าเมื่อผลสำรวจที่เพิ่งออกมาล่าสุดนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในทางลบต่อพรรคเพื่อไทย ที่มีเป้าหมาย “สูงเด่น” เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าต้องไปให้ถึง 310 เสียง แม้ว่าหลายคนจะปรามาสเอาไว้ล่วงหน้าก็ตามว่าเป็นแค่ความฝัน หรือเป็นเพียงแต่ “แผนอำมหิต” ที่มีเจตนากินรวบ ดึงเสียงกลับมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง พรรคก้าวไกล ที่เรียกว่า “ตามเก็บแบงก์ย่อย” คืนมาก็ตาม เพราะทั้งสองพรรคมีฐานเดียวกัน และยิ่งในระยะหลังที่พรรคก้าวไกลสามารถยืนระยะดึงฐานเสียงจากเด็กรุ่นใหม่เอาไว้อย่างมั่นคง ซึ่งความแข็งแกร่งของพรรคก้าวไกลมากเท่าใดมันก็จะยิ่งบั่นทอนการเติบโตหรือเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยมากเท่านั้น เพราะจากบรรดากูรูทั้งหลายมองเห็นว่าไม่มีทางที่ฐานเสียงเดิมจะโหวต “ข้ามฟาก” ไปฝั่งตรงข้าม ความหมายก็คือ “แย่งกันเอง” นั่นแหละ

ดังนั้นหากพิจารณากันตามสภาพที่เห็น และมองไปถึงแนวโน้มในอนาคตมันก็เริ่มชัดเจนแล้วว่า “ไม่มีทางแลนด์สไลด์” มีแต่ “แลนด์ไถล” ออกนอกทางมากขึ้น และแม้ว่านาทีนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ก็คงอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันค่อนข้างแน่ โดยน่าจะชิงกันระหว่าง “เสี่ยหนู” กับ “บิ๊กตู่” นั่นแหละ โดยฝ่ายหลังจะเหลื่อมกว่า เพราะยังมีฐาน ส.ว.หนุนอยู่ส่วนหนึ่งตุนอยู่แล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น