เมืองไทย 360 องศา
มีความชัดเจนตามมาแล้ว หลังมีภาพการหารือกันระหว่างแกนนำพรรคภูมิใจไทย กับ พรรคพลังประชารัฐ โดยฝ่ายแรก นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรค นายชาดา ไชยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ส่วนฝ่ายหลัง นำโดย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค เป็นต้น โดยการหารือดังกล่าวเกิดขึ้นที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา
บรรดาคอการเมืองมองออกทันทีว่าเป็นการหารือ “ทางการเมือง” มีการคาดเดาว่า เป็นการผนึกกำลัง “จับขั้ว” กันล่วงหน้า ความหมายก็คือ เป็นการ “เพิ่มอำนาจต่อรอง” สร้างหลักประกันในการเป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งลักษณะผนึกกำลังกันแบบนี้ ก็เหมือนกับหลังการเลือกตั้งคราวที่แล้ว คือ เมื่อปี 2562 เพียงแต่ว่าคราวนั้น พรรคภูมิใจไทย จับมือกับ พรรคประชาธิปัตย์ แล้วมาต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำ ปัจจุบันกลายเป็นภูมิใจไทย มาจับมือแพ็กกับพลังประชารัฐแทน
แน่นอนว่า หากพิจารณากันในภาพรวมและความเป็นไปได้ ก็ยังเชื่อว่า ทั้งสองพรรคดังกล่าวคือ ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ ยังไม่น่าจะมีเสียงเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลสองพรรค ต้องมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมอีก ซึ่งหากมองให้เห็นภาพ ก็ยังน่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่อยู่ร่วมกันมา 4 ปี ซึ่งจะว่าไปแล้วส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ที่ราบรื่น อาจจะมีในช่วงปลายที่ดูเหมือนเกิดปัญหาระหว่างภูมิใจไทย กับประชาธิปัตย์ เรื่องกฎหมายกัญชา แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหาจุดร่วมไม่ได้ เป็นเพียงการเมืองเฉพาะหน้าที่เป็นเหตุผลแย่งชิงกันในสนามเลือกตั้งกันมากกว่า
ขณะเดียวกัน หากมองให้เห็นภาพมากขึ้นไปอีก ในซีกฝั่งนี้ก็ต้องรวมเอาพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค เข้าไปด้วย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแนวทางที่เป็นไปได้ ก็คือ เป็นการจับมือกันแบบ “หลวมๆ” แพ็กกันไว้ก่อน จากนั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาถึงจะมาพิจารณากันอีกรอบว่าพรรคไหนควรจะเป็นแกนนำ รวมไปถึงความเป็นไปได้สำหรับ “นายกฯ คนละครึ่ง” จากการเหลือเวลาอีกสองปี สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่ต้องบอกว่า ขั้วฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะต้องพิจารณาถึงเสียงของ ส.ว.จำนวน 250 เสียง ตุนเอาไว้ในฝั่งสอง ป. นั่นคือ ป.ประวิตร กับ ป.ประยุทธ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชั่วโมงข่าวเสาร์อาทิตย์ ทางไทยพีบีเอส โดยยอมรับว่า วงรับประทานอาหารระหว่างแกนนำพรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นการนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ประสานขอเข้าพบ พล.อ.ประวิตร
โดยในวงอาหาร ได้มีการพูดคุยและประเมินสถานการณ์การเมืองร่วมกัน และอาจจะเรียกได้ว่า ดีลระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ลงตัวแล้ว เพราะการทำงานร่วมกันมาตลอด 4 ปี ไม่มีปัญหาใดๆ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
“ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ ทำงานร่วมกันมา 4 ปี ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ หรือเหตุจำเป็นยิ่งยวด เราไม่มีปัญหา สิ่งใดไม่เข้าใจก็เคลียร์กันครบทุกเรื่อง” นายอนุทิน กล่าว
ผู้ดำเนินรายการ ถามถึงความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังมีข้อสังเกตความไม่ลงรอย จากการสั่งพักโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นายอนุทิน ยืนยันว่า ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเดิม ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีความแข็งแรง มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
นายอนุทิน ย้ำว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่า การทำงานคุม 3 กระทรวง ทั้งคมนาคม สาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีผลงานที่จับต้องได้ และผู้สมัครของพรรคในครั้งนี้ เป็นผู้สมัครที่มีชื่อชั้น จึงเชื่อว่า พรรคภูมิใจไทย จะได้รับการเลือกตั้งมากกว่า 70 ที่นั่งอย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีแรก หรือจะเป็น 2 ปี ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตามสูตร 2+2 นั้น ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังปฏิเสธขอความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประวิตร ในวงอาหารที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อช่วยเหลือในทางคดี กรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกร้องกรณียังคงไว้ซึ่งหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชัน และเป็นเหตุให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
“ไม่มีการพูดเรื่องส่วนตัวของใครเลย เป็นการประเมินที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง วันนั้นเป็นเพียงพบปะส่วนตัว จึงไม่อยากจะแก้ข่าวใดๆ” นายอนุทิน กล่าว
จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นการ “จับขั้วล่วงหน้า” ส่วนผลการเลือกตั้งออกมาค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ว่าใครจะได้เสียงเท่าไหร่ และใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแนวทางแบบนี้ เชื่อว่าลงตัวกว่าไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร แน่นอน
หากมองกันในภาพรวมการเมืองแบบสองขั้ว ย่อมต้องมีฐานมวลชนเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกัน นั่นคือ ฝั่งเอาเพื่อไทย หรือ เอาทักษิณ กับอีกฝั่งที่ “ไม่เอา” ซึ่งเป็นธรรมชาติมานับสิบปีแล้ว อาจะพิเศษแบบมีรายละเอียดเพิ่มเข้ามาอีกคือ พรรคก้าวไกล ที่แทรกขึ้นมา แต่เมื่อพิจารณาจากฐานมวลชนแล้ว จะไปแบ่งกันในกลุ่มที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ การโหวตจะ “ไม่ข้ามฟาก” ค่อนข้างแน่ เพราะแต่ละฝั่งก็จะสวิงกันในสองขั้ว ในพรรคการเมืองดังกล่าว
เมื่อเห็นภาพแบบนี้มันถึงทำให้เห็นอาการดิ้นรนของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องเร่งออกมาบีบบังคับให้ “เลือกข้าง” ให้เลือกแบบยุทธศาสตร์ ความหมายก็คือ ให้ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ไม่ต้องแบ่งให้ก้าวไกล ความหมายตรงๆ แบบนั้น เพราะเขารู้ว่าต่อให้ได้เกิน 250 เสียง ก็ยังเสี่ยงสูงที่จะชวดการเป็นรัฐบาล เพราะการโหวตนายกฯ ต้องใช้เสียงสูงถึง 376 เสียง
ดังนั้น จึงต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ คือ เรียกร้องเลือกให้ถึง 310 เสียง ซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะหากพิจารณาจากจำนวนเสียง เมื่อการเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคเพื่อไทยได้ 8 ล้านคะแนนเสียง หากจะทำให้ได้เข้าเป้าพวกเขาต้องได้คะแนนพรรคไม่น้อยกว่า 15 ล้านเสียง ซึ่งฟันธงได้เลยว่า ไม่มีทาง ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ทั้งในเรื่องฐานเสียงที่เปลี่ยนแปลง ความถดถอยพรรคเพื่อไทย ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาจะทำได้ก็คือได้ ส.ส.ให้เข้ามามากที่สุด เพื่อสร้างแรงกดดันอ้างความต้องการประชาชน
แต่มีเหตุการณ์ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 62 ที่แม้ว่าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด แต่ก็ไม่อาจรวบรวมเสียงส.ส.ได้มากที่สุด บวกกับไม่มี ส.ว.โหวตหนุน จึงพ่ายแพ้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ในขณะนั้น ดังนั้น เชื่อว่า การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลก็มีแนวโน้มจะหวนกลับมาแบบเดิมอีก อย่างที่เห็นภาพชัด คือ การ “แตะมือ” กันล่วงหน้าของ ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว !!