ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “คีรี-ชูวิทย์” ว่าไง? สายสีส้มฉลุย ศาลสูงตัดสินล้มประมูลครั้งแรกชอบด้วยกฎหมาย 3ปีที่ล่าช้าใครต้องรับผิดชอบ!
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีประเด็นถูกฟ้องจากเอกชนที่เคยเข้าร่วมประมูล บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอส โดย “เจ้าสัวคีรี” คีรี กาญจนพาสน์ ฟ้องหลายคดี และตอนหลังมี “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ออกมาโหวกเหวกโวยวายช่วย กล่าวหาว่ามีทุจริต เงินทอน 30,000 ล้าน นู่นนี่นั่น โพนทะนาว่าร้ายต่างๆ นานา ทั้งยื่นเรื่องร้องนายกฯ ลามไปถึงการไปหาเรื่องกับ ป.ป.ช.
ปรากฏว่า เมื่อเช้าวานนี้ มีรายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด ว่าศาลสูงมีคำพิพากษา ยกฟ้องคดีที่ บีทีเอส ฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ว่า ล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยไม่ชอบ
โดยศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนและการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน มิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ และการยกเลิกเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
ถ้ายังจำได้ เมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับคดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีล้ม ที่ “คีรี กาญจนพาสน์” ฟ้องว่า รฟม.กำหนด TOR โดยไม่ชอบ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาว่า รฟม.มีสิทธิ์แก้ TOR ได้โดยชอบมาแล้ว
สรุปก็คือ ประมูลครั้งแรกที่รัฐโดย รฟม.แก้TOR และยกเลิกประมูลครั้้งแรก ชอบด้วยกฎหมาย
รฟม. แก้ TOR ก็เพื่อให้ความสำคัญด้านเทคนิคมากขึ้น ควบคู่กับการเงิน แต่ BTS ฟ้อง ยืดเยื้อจนล่าช้า รฟม. จึง ยกเลิกประมูล เพื่อเริ่มประมูลใหม่ BTS ก็ฟ้องอีก กระทั่งศาลสูงตัดสินว่า รฟม.-คณะกรรมการคัดเลือก แก้ TOR โดยชอบ และล่าสุดก็ตัดสินว่า ยกเลิกประมูลครั้งแรก ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ BTS ฟ้องว่า การประมูลใหม่ไม่ชอบ เพราะยกเลิกประมูลครั้งแรกไม่ชอบ ก็จะจบไปโดยปริยาย !!
เท่ากับว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจนได้ผู้ชนะ และได้พิสูจน์แล้วว่า ขั้นตอนต่างๆ ที่มีผู้ร้องว่าไม่ชอบต่างๆ นั้นได้รับคำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ประมูลรถไฟฟ้าสายสีล้มฉลุย ได้ไปต่อโดยสุจริต
โครงการรถไฟฟ้าสีส้ม เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเกือบทั้งสาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนตะวันออก 22 กม. วิ่งจากมีนบุรี –ศูนย์วัฒนธรรม และ ส่วนตะวันตก 14 กม. จากศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ โดยรฟม.ก่อสร้างส่วนตะวันออกจะแล้วเสร็จต้นปี 2566 และจะให้เอกชนลงทุนก่อสร้างส่วนตะวันตก พร้อมกับจัดหารถไฟฟ้า และเดินรถตลอดสาย
มติ ครม.อนุมัติให้รฟม. คัดเลือกเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้าง และรัฐจะสนับสนุนค่าก่อสร้าง ซึ่งต่อมา เดือนกรกฎาคม ปี2563 รฟม.เปิดประมูลครั้งแรก ก่อนยื่นซองประมูล 1 เดือน ได้มีการแก้ไข TOR เพื่อเปลี่ยนวิธีตัดสินจากตัดสินด้วยการเงิน หรือใครที่ขอสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด เป็นคะแนนเทคนิค+การเงิน BTS ก็เลยฟ้องศาลปกครอง ว่า รฟม. และคณะกรรมการฯ แก้TOR ไม่ชอบ
จากนั้นเรื่องก็คาราคาซัง ยืดเยื้อมานาน เพื่อแก้ปัญหาล่าช้า รฟม. จึงยกเลิกประมูล คืนซองข้อเสนอ โดยยังไม่ได้เปิดซองของคนที่ยื่น และเปิดประมูลใหม่ แต่ “คีรี กาญจนพาสน์” และ BTS ฟ้องศาลกลางว่า ยกเลิกประมูลโดยไม่ชอบอีก และ กระพือประเด็น “ตัวเลข” สร้างถูกและแพง มาเทียบกับคู่แข่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขในซองนั้นเป็นเช่นไร
มาถึงตรงนี้ งานนี้มีคำถามถึง “คีรี กาญจนพาสน์” ที่ฟ้องรฟม.-คณะกรรมการฯ และ “ชูวิทย์” ออกมา “รับงาน” โวยวายเพื่อด้อยค่าการประมูลสายสีส้มเหมือนคน “แพ้แล้วพาล” ว่า 3 ปีที่โครงการล่าช้า ใครต้องรับผิดชอบ!
**อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เพื่อไทยจะแก้รธน. ฟื้น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ก็มีคำถามตัวโตโตว่า ทำเพื่อคนคนเดียวหรือเปล่า?!!
“ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์ 3 ของพรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้รั้งตำแหน่ง ประธานกรรมการด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว พร้อมคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคและรองประธานฯ, “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคและกรรมการด้านประชาธิปไตยฯ บอกว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯได้มีมติว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยึดกรอบ 4 ประเด็นหลัก
1.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีการทำประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนก่อน
2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะบรรจุเรื่องฟื้นฟู “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้เคยบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่เมื่อถูกรัฐประหาร ก็ไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาอีกเลย ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติ หากเรื่องใดที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องได้รับการแก้ไข ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เพราะถือเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชนว่า บุคคลใดจะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไม่ได้
3. จากโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ในทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในหลักนิติธรรม รวมถึงการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ต้องมีการยกเลิก แก้ไข ปรับปรุง อย่างเร่งด่วน
4. ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญาฯ เพื่อให้เป็นหลักประกันประชาชน ในสิทธิ เสรีภาพ โดยสิทธิการประกันตัวต้องเป็นหลัก การไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นข้อยกเว้นที่เขียนไว้โดยชัดเจน ว่าไม่ให้ประกันตัวในเรื่องใดบ้าง เราจะหลีกเลี่ยงการเขียนกฎหมายที่ตีความได้กว้างขวาง เพราะที่ผ่านมาประชาชนต้องเผชิญกับการถูกคุมขังในศาลโดยไม่ได้รับการประกัน จากการใช้เหตุผล และดุลยพินิจที่กว้างขวาง
“ชัยเกษม” บอกว่า 8 ปีที่ผ่านมา มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่รังแกประชาชนเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการฟื้นฟูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชน ให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และเปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายโดยเฉพาะหลักนิติธรรม ( Rule of law ) หลักประชาธิปไตย และ การจับกุมคุมขัง
ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้พยายามผลักดัน ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบแล้ว แต่วุฒิสภาไม่เห็นด้วย บัดนี้จึงนำมาสู่ข้อยุติของคณะกรรมการชุดนี้ และเราจะเป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และถ้าได้จัดตั้งรัฐบาล จะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน
ขณะที่“ภูมิธรรม เวชยชัย” บอกว่า หากสามารถแก้ที่โครงสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ ก็จะเป็นการสร้างพื้นฐานในการปรับในเรื่องอื่นประมวลกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ ขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐาน จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หรือยกเลิก ขึ้นอยู่กับสถานภาพของกฎหมายต่างๆ อีกครั้ง รัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่คลุมทั้งหมด ส่วนในรายละเอียดจะมีการศึกษาต่อไป
“เราคิดอะไร เราจะทำทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล หลายเรื่องเป็นปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศมีหลัก Rule of law การปกครองประเทศ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยปกครองประเทศ และจะเป็นแนวปฏิบัติไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งหมด”
ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวกรณีการแก้กฎหมายราชทัณฑ์ โดยอดีตรมว.ยุติธรรม เกี่ยวกับสถานที่คุมขังไว้แล้ว ว่ามีสถานที่ใดบ้าง ทั้ง โรงพยาบาล บ้านพัก ซึ่งไม่ใช่เรือนจำแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อนำมาประกอบกับประเด็นที่จะบรรจุในรัฐธรรมนูญที่ว่านี้แล้ว เหมือนทำเพื่อใครคนหนึ่งที่กำลังร่ำร้องจะกลับบ้านในตอนนี้!!