“นิพิฏฐ์” ตั้งคำถาม “เศรษฐา” บริษัทรายได้ดี แต่ “กำไรต่ำ” ต่างจากคนอื่นธุรกิจเดียวกัน เพราะอะไร? เงินที่หายไปอยู่ไหน? ผู้ต้องหา 3 นิ้ว ส่อวุ่น! “อดีตผู้พิพากษา” ชี้ หลัง “ยุบสภา” ทำให้อดีต ส.ส.ไม่มีหลักประกัน ศาลอาจเพิกถอนได้
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 มี.ค. 66) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า
“คำตอบที่เศรษฐา ทวีสิน ต้องตอบคนจนอย่างผม (ตอนที่ 1)
- มหาเศรษฐีเศรษฐา ทวีสิน เจ้าของบริษัท แสนสิริ ที่พรรคเพื่อไทยปลุกเสกและหมายมั่นปั้นมือว่าคนนี้แหละที่จะแก้จน ให้คนไทยทั้งประเทศ
- ช้าก่อน... คนจนทั้งหลาย โปรดฟังคำถามของผมและฟังคำตอบของคุณเศรษฐา ก่อน ดังนี้
1. ในบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีรายได้ตั้งแต่สามหมื่นล้านบาท แปลกที่แสนสิริมีกำไรน้อยสุดทั้งที่ควรจะได้พอๆ กัน
คำถามที่ 1 คือ กำไรส่วนต่างที่แสนสิริควรจะได้เท่าเพื่อนๆ..หายไปไหน? อยู่ที่ผู้บริหารหรือเปล่า ผมสงสัย
2. เหตุการณ์นี้มิใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานแล้ว ผมให้ดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี แสนสิริ มีรายได้สูงแต่อัตรากำไรน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง น้อยจนน่าสงสัย
3. ยกตัวอย่างให้ดูง่ายที่สุดว่า แสนสิริ รายได้เท่ากับแลนด์แอนด์เฮาส์, ศุภาลัย แต่กำไรน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คำถามคือ กำไรหายไปไหนทั้งที่ทำเหมือนๆ กัน
4. ดูกำไรปีนี้ก็ได้ 4 บริษัทแรก รายได้พอๆ กัน แต่แสนสิริกำไรน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง กำไรหายไปไหน
5. น่าแปลกในรอบ 6-7 เดือน ที่คุณเศรษฐาเเต่งตัวเล่นการเมือง หุ้นแสนสิริสูงขึ้นเป็น 100% มีคนพูดว่าปั่นหุ้นเอาเงินแมงเม่ามาเล่นการเมืองหรือเปล่า ผมพยายามแก้ให้ว่าอาจเพราะโควิดหายแล้วก็ได้ แต่อัตรากำไรก็ยังน้อยเหมือนเดิมนั่นแหละ เรื่องนี้ คุณเศรษฐาต้องตอบเอง
6. คำถามสุดท้าย ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ตลอด 10 ปีนี้ ท่านบริหารบริษัทจนร่ำรวย แต่ผู้ถือหุ้นขาดทุน 64% (เทียบราคาหุ้น 10 ปี ลดจาก 4.7 บาทเหลือ 1.7 บาท) หากท่านมาบริหารประเทศที่คนไทยถือหุ้น ท่านจะทำให้คนไทย “หายจน” ในระยะยาวได้อย่างไร
- การทำธุรกิจมันมี “ตัวเลขมาตรฐานกำไร” ทั้งนั้นแหละครับ ธุรกิจเดียวกันกำไรต้องใกล้เคียงกัน ถ้าต่ำกว่า ถือว่า มีการถ่ายโอนผลประโยชน์ออกจากบริษัท
*คนจน และ ขาเชียร์ทั้งหลาย โปรดรอฟังคำตอบพรรคเพื่อไทย และ เศรษฐา ทวีสิน/”
ขณะเดียวกัน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า
“เมื่อมีการยุบสภาสมาชิกภาพของ ส.ส. ก็สิ้นสุดลงแล้ว กรณีที่อดีต ส.ส.บางคนใช้ตำแหน่ง ส.ส. ขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลยุติธรรม และได้รับอนุญาตให้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.เป็นหลักประกันในการประกันตัวนั้น
ศาลยุติธรรมศาลใดที่อนุญาตให้อดีต ส.ส.ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน น่าจะต้องดำเนินการให้ อดีต ส.ส.คนนั้น นำหลักทรัพย์ไปวางศาลเพื่อเป็นหลักประกันแทนการใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันโดยด่วน
ถ้า อดีต ส.ส. ที่ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ไม่นำหลักทรัพย์มาวางศาลเพื่อเป็นหลักประกันแทน ก็มีผลว่า เป็นการให้ประกันตัวโดยไม่มีหลักประกันอะไรเลย ศาลอาจเพิกถอนการประกันได้ เพราะหากมีการผิดสัญญาประกัน ก็ไม่อาจบังคับคดีได้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบังคับคดี”