“อภิสิทธิ์” แจงเว้นวรรคการเมือง ระบุ แนวคิดไม่สอดคล้องพรรคหลายเรื่อง หากลงเลือกตั้งห่วงเอกภาพ ยอมปรับบทบาท แต่ไม่คิดไขก๊อก ห่วงเกิดสุญญากาศหลังใช้สิทธิ มอง พท.โอกาสตั้ง รบ.สูง อีกฝ่ายรวมให้ได้ 250 เสียงก่อน ไม่ง่ายพรรคร่วมให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อ แต่เชื่อใต้นำโด่ง
วันนี้ (21 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก วันที่ 21 มี.ค. ถึงเหตุผลเว้นวรรคการเมือง ว่า ตนเคยเป็นอดีต ส.ส. อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อผลการเลือกตั้งปี 2562 ออกมา ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ต่อมาได้ลาออกจาก ส.ส. เนื่องจากตอนนั้นประกาศว่าจะไม่ไปร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต่อมามีการไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่ได้หาเสียงว่า ไม่เข้าร่วม เลยรักษาคำพูด ขอรับผิดชอบ วันนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ลาออก เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. หัวหน้าพรรค รวมทั้งนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า อะไรน่าจะดีที่สุด ได้พูดไปว่าทุกคนทราบดี แนวคิดของตนหลายๆ เรื่อง ช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ตรงสอดคล้องกับการดำเนินการของพรรคมากนัก หากลงสมัครรับเลือกตั้งจะเกิดความสับสน ไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งไม่น่าเป็นผลดีกับพรรค เพราะครั้งนี้หลายพรรคการเมือง ถือว่าเป็นศึกหนักทางการเมือง ถ้าพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ยังสับสน ไม่มีเอกภาพ คงไม่น่าเป็นผลดีกับพรรค ดังนั้น เรื่องที่เหมาะสมลงตัวที่สุด คือ ตนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนจะไปช่วยผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคหรือไม่ คงเป็นไปตามความต้องการผู้สมัครแต่ละคน เมื่อไปช่วยแล้วไม่ให้กระทบกระเทือนการบริหารงานหลักของพรรค โดยการเลือกตั้ง 2566 นายชวน นายบัญญัติ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะยังลงสมัครรับเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การที่ตัดสินใจร่วมกัน เพราะตนพูดตั้งแต่ต้นไม่มีความประสงค์ขัดแย้งกับพรรค หากถามว่าอยากเป็น ส.ส.หรือไม่ ตั้งแต่ทำงานการเมืองมาก็เป็น ส.ส. หากลงบัญชีรายชื่อ ก็คงอยู่ในอันดับได้เป็น ส.ส. แต่ก็คิดถึงองค์กร ภาพรวมของพรรค สิ่งที่ทำให้ได้ดีที่สุดของพรรค คือ สนับสนุนเท่าที่ทำได้ หากนำตนไปวางเป็นผู้สมัครน่าจะเป็นปัญหาเชิงเอกภาพ และคงไม่เป็นธรรมกับผู้เลือกตั้งเท่าไหร่ ประชาธิปัตย์คืออะไร เลือกมาอีกอย่าง ทำอีกอย่าง ถ้าตนลงเลือกตั้ง คงมีคำถามตั้งแต่วันนี้ถึงหลังเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า หากเข้าไปกังวลคนจะสับสน ประชาธิปัตย์อะไรยังไง แสดงว่าได้ทำนาย ประชาธิปัตย์ อาจจะไปจับขั้วเดิม แล้วขัดแย้งอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้ไปทำนายอะไร แต่ปัจจุบันถึงเลือกตั้งยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ก็ปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เท่าที่ติดตามการทำหน้าที่ของหัวหน้าพรรค ที่บอกขอดูตัวเลขก่อน จะได้มาเท่าไหร่ เหมือนยังไม่ตอบ เพื่อให้ผู้บริหารพรรค ทำงานได้ง่ายที่สุด ก็ไม่อยากเป็นอุปสรรคเงื่อนไข
ถามต่อว่า หลังเลือกตั้งจะกลับเข้ามาอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทำงานการเมือง ไม่ได้เอาตนเป็นตัวตั้ง เป็นเพียงนักการเมืองคนหนึ่งอยู่ในระบบ ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ ใครที่ยังไม่สนิทใจอะไร ไม่ได้หมายความว่าต้องออกจากพรรค ย้ายพรรค ตั้งพรรคใหม่ ก็คิดว่า ทำแบบสากล ใครอาจยังไม่สนิทใจบางเรื่องบางราว ก็ปรับบทบาทตัวเองในพรรคลงมา เหมือนกับสมาชิกพรรคทั่วไป เป็นแนวทางการเมืองที่ยึดถือตลอด
ถามถึงการล่ารายชื่อ กรรมการบริหารจะลาออก การเปลี่ยนแปลงมีชื่อนายอภิสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้อง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สมาชิกพรรคมีความหลากหลาย ข่าวการล่ารายชื่อ ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง ทุกครั้งมีสมาชิกโทรศัพท์มาหา ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะกลับหรือไม่ ก็ตอบไปว่าไม่กลับ เพราะขณะนี้ พรรคตกลงปลงใจไปร่วมรัฐบาล การจะเปลี่ยนแปลง จะเอาตนกลับไปไม่ใช่แค่นั้นอย่างเดียว ยังส่งผลกระทบต่อการร่วมรัฐบาล เรื่องประเทศ อะไรต่างๆ ไม่ใช่วิธีการที่จะไปทำอะไรแบบนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่กลับ อันนี้คือเรื่องจริง พูดได้ พร้อมกับยืนยันไม่ได้อยู่เบื้องหลังการล่ารายชื่อ และถ้าทำก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้
นายอภิสิทธิ์ ยังได้วิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งถึงโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลว่า พูดตรงไปตรงมา นิด้าโพลเป็นโพลที่ทำมีความต่อเนื่อง มีฐาน รูปแบบการสำรวจที่เป็นมาตรฐาน หากดูผลตรงนี้ ถามคอการเมือง พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคใหญ่ที่สุด เพียงแต่จะได้เสียงข้างมากในสภาหรือไม่ พรรคอันดับ 2 อาจจะไม่ถึง 100 เสียงก็ได้ บรรยากาศหลังเลือกตั้ง เป็นบรรยากาศ พรรคเพื่อไทยได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาล แต่เรามีรัฐธรรมนูญมาตรา 272 คือ 250 เสียงยังไม่ได้ ต้องได้ 375 เสียง ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่มีการวิเคราะห์ จะจับมือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.พอโน้มน้าวให้มาเลือกได้ รูปการณ์คงไปทางนั้นก่อน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ อยู่กับตัวเลขและเงื่อนไขอื่นๆ รวมทั้งท่าทีพรรคอื่น เป็นอย่างไร พรรคก้าวไกล ประกาศชัดว่า ร่วมงานกับใครได้บ้าง พรรคภูมิใจไทย ดูเหมือนไม่ปฏิเสธใคร เช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ ถ้าผลเป็นไปตามโพลบอกขนาดนี้ ต้องไปเริ่มที่พรรคเพื่อไทยก่อน ที่ได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
“ถ้าเพื่อไทยได้เกิน 250 เสียง ถ้ารัฐบาลไปตั้งโดยไม่มีเพื่อไทย แต่ถ้าเขาเกิน อยู่ที่ว่าให้เขาตั้งรัฐบาลอย่างไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร อาจรวมไปถึงนายกฯด้วย ถ้าไม่ถึง 250 จะมีช่องทางอื่นๆ มากขึ้น เชื่อว่า เพื่อไทยก็ทราบดี กว่าจะเริ่มตั้งต้นรัฐบาลได้ ต้องมีนายกฯ จะมีนายกฯได้ ต้องได้ 375 เสียงก่อน ใครได้ 375 หรือใกล้กับ 375 ก็มีโอกาส จึงมีการขยับตัวเลขมา 310 พอถึงตัวเลขนี้ เขาก็เชื่อว่า เดี๋ยวอีก 60 เสียงก็ตามมา จาก 250 ไป 310 เสียง เขาน่าจะไปกินจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน เพราะคะแนนขั้วเดียวกัน เสียงที่ไปเติมให้ถึง 375 เสียง จาก 310 เป็น 375 แล้วอีก 60 เสียงตรงนี้ ก็อาจมาจากขั้วเดียวกัน ที่จะถูกนับอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังนึกไม่ออก ส.ว.จะทำให้เกิดสุญญากาศแล้วคาดหวังอะไร ไม่มีรัฐบาล มีแต่รัฐบาลรักษาการอย่างนั้นหรือ จะเกิดแรงกดดันจากสังคม คงไม่ง่าย ส.ว. ที่จะอธิบาย ทำไมทำให้เกิดสุญญากาศ แต่จะต่อรองอะไรหรือไม่ เชื่อว่า ทำได้ ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือไม่ เพราะกติกา อนุญาตให้เขาอธิบายได้ แต่หากเกิดสุญญากาศแล้วเดินไม่ได้ ก็จะตอบไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะกลับมาได้ ต้องทำให้พรรคที่สนับสนุน มีเสียงเกิน 250 เสียง การตั้งรัฐบาลโดยเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะในภาวะถ้าเพื่อไทยได้เสียงเกิน 250 ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย ที่ต่างประกาศไม่สนับสนุนท่าน คงอยู่ยาก จะกลับมาคือ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้เสียงเกินครึ่ง และให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยอมรับให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเงื่อนไข ประยุทธ์ มีเงื่อนไข ทำอย่างไรให้ได้เสียงเกิน 250 และหัวหน้าพรรคขั้วเดิม ยอมรับให้ท่านเป็นนายกฯ ไม่ใช่งานง่ายสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์” นายกอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร ข้ามขั้วได้ง่ายกว่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเดินแยกทาง พล.อ.ประวิตร คงตั้งใจอยู่แล้ว การสื่อสารผ่านจดหมาย ก้าวข้ามความขัดแย้ง ได้วางตำแหน่งพรรคพลังประชารัฐใหม่ พร้อมทำงานกับพรรคที่เคยแบ่งขั้ว แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง พลังประชารัฐ มีกำลังเท่าไหร่ แต่ตอนนี้มีคนมอง พล.อ.ประวิตร มีความได้เปรียบน่าจะโน้มน้าว ส.ว.ได้อีกส่วนหนึ่ง
ถามด้วยว่า คะแนน พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนจะไหลไปไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คะแนนที่สนับสนุนพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนที่เคยเลือก พลังประชารัฐ ในภาคใต้ แนวโน้มที่เคยเลือกพลังประชารัฐ มีแนวโน้มไป พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไป ส่วนพื้นที่อื่น ก็เป็นอีกเงื่อนไข บ้านใหญ่หากยังอยู่พลังประชารัฐ อาจไม่ไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนซีกรัฐบาล หากเทียบกับปี 2562 เมื่อดูผลสำรวจ มันลดลง อยู่ที่ว่าช่วงการเลือกตั้งจะดึงกลับมาได้หรือไม่ ขณะที่ความนิยม พล.อ.ประยุทธ์ ภาคใต้ชัดเจนกว่าที่อื่น และที่อื่นในหมู่ซีกรัฐบาล ท่านยังเป็นอันดับ 1 อยู่ ปฏิเสธไม่ได้