ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนสนใจการเมือง และติดตามความเป็นมาของการเมืองไทยตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่า ประเทศไทยมีการปกครองทั้งในระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตยสลับสับเปลี่ยนกันหลายครั้งหลายหน และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.หลังจากการปกครองในระบอบเผด็จการสิ้นสุดลง ก็จะมีผู้มีอำนาจจากระบอบเผด็จการ ก็จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของตนเองเช่น พรรคมนังคศิลาในยุคของจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นต้น และล่าสุดก็คือพรรคพลังประชารัฐในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติก็จัดอยู่ในข่ายนี้
พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นรองรับการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ และพรรคที่ตั้งขึ้นในลักษณะนี้เป็นประเภทพรรคเฉพาะกิจ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ เกิดง่ายตายเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของปัจเจกที่ต้องการมีอำนาจโดยการเป็นรัฐบาลต่อไป จะด้วยเสพติดอำนาจหรือมีผลประโยชน์ต่อเนื่อง หรือต้องการปกปิดความผิดที่ก่อขึ้นในขณะเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ใครจะเข้าข่ายประเภทไหน
2. ในการตั้งเฉพาะกิจจะมีการรวบรวมนักการเมืองเก่าที่มีฐานคะแนนมากพอที่คาดได้ว่าจะได้รับเลือกจากพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่เดิม โดยยื่นข้อเสนอให้เป็นที่พอใจ
3. เมื่อผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้วไปต่อไม่ได้ นักการเมืองเหล่านี้ก็จะจากไปตั้งพรรคใหม่หรือกลับไปพรรคเดิม พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นก็มีอันต้องล้มเลิกไป
นอกจากพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของบุคลากรทางการเมืองจากระบอบเผด็จการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีพรรคเฉพาะกิจอีกประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นจากนายทุนที่ต้องการอำนาจ เพื่อปกป้องและแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจผูกขาดโดยอาศัยอำนาจเกื้อหนุนพรรคเฉพาะกิจประเภทหลังนี้อาจดำรงอยู่ได้นานกว่าประเภทแรก แต่ในที่สุดก็จะล้มเลิกไปเมื่อแพ้การเลือกตั้ง ประสบความล้มเหลวทางการเมืองไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
พรรคเฉพาะกิจทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พรรคเฉพาะกิจไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ หรือที่ตั้งขึ้นโดยนายทุน ถึงแม้จะมีโครงสร้างการจัดการองค์กรในรูปแบบของประชาธิปไตยคือ มีสมาชิกพรรค มีกรรมการบริหารพรรค แต่โดยเนื้อแท้ของการจัดการแล้วเป็นเผด็จการทางความคิดคือ ถูกครอบงำด้วยความคิดของผู้มีอำนาจเหนือพรรคคือ ผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคจากระบอบเผด็จการและนายทุนของพรรค จึงเท่ากับเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย
2. พรรคเฉพาะกิจทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า จะเห็นได้จากการกำหนดนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการซื้อเสียงในรูปแบบสัญญาว่าจะให้ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะทำได้หรือไม่ หรือถ้าทำได้จะมีปัญหาอะไรแทรกซ้อนตามมาให้ประเทศต้องแบกรับในวันข้างหน้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น ถ้าพรรคเฉพาะกิจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ประชาธิปไตยด้อยค่าลงเท่านั้น
ใน 2 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป และในขณะนี้หลายพรรคได้ประกาศนโยบายในการปราศรัยหาเสียงประชันขันแข่ง โดยการเสนอประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในรูปแบบต่างๆ ถ้าฟังเพียงผิวเผินดูเหมือนว่า ประชาชนคงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ถ้านำมาคิดถึงความเป็นไปได้ และปัญหาที่จะตามมาแล้ว พอจะมองเห็นภาระที่ประเทศชาติและประชาชนจะต้องแบกรับแล้วรู้สึกหดหู่ โดยเฉพาะภาระทางด้านการเงิน เนื่องจากหนี้ของประเทศจะเพิ่มขึ้น และภาษีที่จะต้องจ่ายเพื่อนำมาใช้หนี้ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ก่อนลงคะแนนให้พรรคไหนดูนโยบายและพฤติกรรมในอดีตของแต่ละพรรคให้ดี จะได้ไม่ทุกข์และเสียใจภายหลัง