“ศ.ดร.นฤมล” ชี้ เหตุธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ในสหรัฐฯ ล้ม เพราะไม่กระจายความเสี่ยง นำเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากเกินไป เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรลดลง เมื่อลูกค้าแห่ถอนเงินต้องขายพันธบัตรขาดทุน แม้ไม่ส่งผลกระทบวงกว้าง แต่ทุกองค์กรในไทยควรศึกษาเป็นบทเรียน
วันนี้ (11 มี.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก กรณีธนาคาร Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกาปิดกิจการ ว่า วันพุธที่ 8 มีนาคม ธนาคาร Silicon Valley ประกาศผลขาดทุนจากการขายพันธบัตรร่วม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ วันถัดมาราคาหุ้นของธนาคาร Silicon Valley ร่วงลงอย่างหนักกว่า 60% จนเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม จึงถูกสั่งปิด ตัวเลขความเสียหายนับว่าใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดกับธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี พ.ศ. 2551 หลังจากที่ถูกสั่งปิด สินทรัพย์รวม 209 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยอดเงินฝากรวม 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทประกันภัยเงินฝาก หรือ FDIC ซึ่งนำไปไว้ที่ธนาคารที่ตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อ National Bank of Santa Clara
สาเหตุที่ธนาคาร Silicon Valley ต้องขายพันธบัตรที่ราคาขาดทุนมากขนาดนั้นก็เพราะ
1. ช่วงที่ธุรกิจสตาร์ทอัปได้รับความสนใจสูง มีเงินฝากเข้ามาเป็นจำนวนมาก ธนาคารได้นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี
2. ช่วงสองปีที่ผ่านมา เฟดใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ เลยส่งผลให้มูลค่าพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารถือไว้ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ลูกค้าเงินฝากต่างพากันทยอยถอนเงินออกจากธนาคาร
4. ธนาคารจึงต้องขายพันธบัตรที่ราคาขาดทุนเพื่อนำเงินมาให้ลูกค้าที่ต้องการถอนเงิน
5. เมื่อประกาศผลขาดทุนจากการขายพันธบัตรสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งทำให้ลูกค้าแห่ถอนเงินกันหนักจนธนาคารขาดสภาพคล่อง และถูกสั่งปิดระหว่างวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร Silicon Valley จะมีลักษณะเฉพาะตามที่เล่ามา และนักวิเคราะห์ต่างเชื่อมั่นว่า ความเสียหายน่าจะไม่ขยายวงกว้างจนนำไปสู่วิกฤตการเงินรอบใหม่ แต่ทุกองค์กรแม้แต่ในไทย ควรหันมาตรวจสอบสินทรัพย์ในมือที่ถือกันอยู่ว่ากระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดมากเกินไปหรือไม่ แม้แต่พันธบัตรรัฐบาลที่เดิมเชื่อกันว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เหตุการณ์นี้ ทำให้เห็นว่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้มูลค่าพันธบัตรร่วงลงมาก เมื่อเกิดเหตุจำเป็นต้องขายเพื่อชดใช้หนี้ ก็สามารถทำให้ขาดทุนจนขาดสภาพคล่องและล้มละลายได้ในที่สุด