xs
xsm
sm
md
lg

“จตุพร” เผยวงใน คำร้อง “สนธิญา” ยุบ “พท.” เผาหลอก ชี้ “เผาจริง” อยู่ขั้นอนุกรรมการไต่สวน “อุ๊งอิ๊ง” เจอโต้ นำ ม.112 เล่นการเมืองเสียเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จากแฟ้ม
เพื่อไทยทำตัวเอง! “จตุพร” แซะคำร้องยุบพรรค “สนธิญา” แค่เผาหลอก ชี้ เผาจริง อยู่ในขั้นอนุกรรมการไต่สวน “ดร.ณัฏฐ์” ชี้ “ณัฐวุฒิ” ไม่ใช่ผู้ช่วยหาเสียง “ส่อเข้าข่ายยุบพรรค” เรียงหน้าฟาด “อุ๊งอิ๊ง” ปม ม.112 กลั่นแกล้งการเมือง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 มี.ค. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “สับขาหลอก” โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีข้อหายุบพรรคเพื่อไทย ว่า คำร้องของนายสนธิญา สวัสดี เป็นเพียงการเผาหลอก ส่วนเผาจริงได้เตรียมการไว้แล้ว ผ่านการไต่สวนชี้ข้อหามีมูลเป็นที่ยุติ และกำลังอยู่ในขั้นตั้งอนุกรรมการไต่สวน จากนั้นเสนอให้ กกต.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูล แล้วยื่นศาล รธน.ลงดาบข้อหายุบพรรค ซึ่งคาดว่า คงใช้เวลาไม่นานนับจากนี้

นายจตุพร ย้ำว่า บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี นอกจากได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงแล้ว ยังเหลือเพียงหน้าที่เชียร์พรรคการเมืองได้อย่างเดียว โดยต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้ช่วยหาเสียง” เท่านั้น

“สิ่งสำคัญ ผู้ช่วยหาเสียงมีหน้าที่เชียร์ อย่าได้ทำหน้าที่เกินเลยไปเป็นโค้ชสั่งการผู้เล่นเด็ดขาด ยิ่งกองเชียร์ยังมีสถานะคนนอกพรรค การพูด การเชียร์อะไร อย่างไร ต้องระมัดระวัง โดยให้พรรคพูดล่วงหน้าก่อน กองเชียร์ค่อยพูดตามเป็นดีที่สุด จะปลอดภัยจากการครอบงำที่สุด ผมผ่านบทบาทตรงนี้มาแล้ว ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงคนแรกของประเทศ ถ้ายุบพรรคก่อนการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยสามารถแต่งตัวทันการเลือกตั้ง โดยย้ายไปอยู่พรรคอื่นแทนที่ แต่ถ้ายุบระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสงครามเดือดระอุยากจะจบลงง่ายๆ ดังนั้น คาดว่า การยุบจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ที่คิดแบบโลกสวยจะย้ายไปอยู่พรรคสำรองไว้ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงตลาดเปิดให้ดูดรวบรวม ส.ส. เพื่อต่อรองแลกตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเป็นช่วงแบ่งกั๊กเป็นกบฏต่อพรรคเต็มไปหมด”

“ยิ่งการยุบพรรคเป็นกระแสแรงมากขึ้น แสดงว่า จะปฏิเสธการจับมือกับ พปชร. ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น และขณะเดียวกัน หากยิ่งส่งสัญญาณจับมือ พปชร. ก็เท่ากับเร่งให้ถูกยุบพรรคเวลาใดก็ได้นั้น ความเสื่อมก็ปรากฏทันที ไม่มีใครออกมาปกป้อง ซึ่งจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็ตาม”

ทั้งนี้ จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทย แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย..” จนสร้างความสับสนแก่ประชาชนทั้งประเทศ และกลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อคลายปมปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว

วันนี้ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง อธิบายและให้ความรู้แก่ประชาชน ว่า โครงสร้างพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ได้บัญญัติกำหนดตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยไว้ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเพียงตั้งกลุ่มขึ้นมาทำกิจกรรมทางการเมืองโดยใช้เทคนิคเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยไม่ถูกติดสิทธิทางการเมือง ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามริมถนนสาธารณะทั่วไป แผ่นป้ายนโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นรูปภาพ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่กลับไม่มีภาพการนำเสนอนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาเสนอต่อประชาชน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยจะนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์ชี้แจงค่าใช้จ่ายต่อ กกต.หรือไม่

ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง” หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย ซึ่งบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถูกจำกัดสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งจนกว่าที่จะพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ถึงจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561

ดังนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง จึงไม่อาจเป็นผู้ช่วยหาเสียง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ให้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียง เพราะขาดหลักเกณฑ์ในการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงมีลักษณะเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจการของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ตามความในมาตรา 29 แห่ง พรป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560

เมื่อถามว่า หาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รับจ้างเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย สามารถกระทำได้หรือไม่ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า หากเป็นสัญญาจ้างทำของ มุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นหลัก สามารถกระทำได้ แม้ไม่ได้มีสัญญาว่าจ้าง แต่ต้องแจ้ง กกต.ประจำจังหวัดในพื้นที่ในวันที่หาเสียงหรือปราศรัย แต่เงื่อนไขสำคัญหลัก ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่พรรคเพื่อไทย ชี้แจงต่อ กกต. เป็นการจ้างทำของหรือไม่ นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงคำปราศรัยจ้างในการหาเสียง เป็นผู้กำกับ ควบคุมเองหรือไม่อย่างไร เท่าที่ติดตามข่าว เห็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย จ้างหลักร้อย เล่นหลักล้าน ต้องมาถอดคำปราศรัยว่า การปราศรัยหรือหาเสียง ครอบงำพรรคหรือไม่ แม้ไม่ผิดระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 โดยอาศัยช่องจ้างทำของ แต่ติดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ใดมิใช่สมาชิกกระทำการใดควบคุม ครอบงำพรรค พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า ระหว่างคุณเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สถานะทางกฎหมายพรรคการเมืองไม่ต่างกัน เมื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้ ออกช่องรับจ้างทำของ แต่ติดกับดัก มาตรา 28 มาตรา 29 แห่งกฎหมายพรรคการเมือง เป็นอันตรายแก่พรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 ห้ามไว้โดยชัดแจ้งห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำพรรค ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ยุบพรรคตามมาตรา 92(3) ตรงนี้ ผมพูดตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (จากสยามรัฐออนไลน์)

ภาพ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์
ขณะเดียวกัน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ระบุว่า

“อ่านโพสต์ข้างล่างนี้ ของ ดร.นิว แล้ว

ผมขอสนับสนุนครับ

คุณ อุ๊งอิ๊ง ลองหามาสักคนซิครับ ว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

มีผู้ต้องหา ม.112 คนไหน ที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองบ้าง

บอกมาสักชื่อได้ไหม

คุณ อุ๊งอิ๊ง เคยพูดคล้ายคลึงกันว่า ครอบครัวก็ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองมาก่อนเหมือนกัน ก็อยากรู้ว่า

ใครที่ถูกกลั่นแกล้งลองบอกชื่อมาสิครับ

เป็นนักการเมืองอย่าพูดอะไรให้ตนเองเดือดร้อน

คิดก่อนค่อยพูดดีไหมครับ”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เฟซบุ๊ก “วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “วรงค์ เดชกิจวิกรม - Warong Dechgitvigrom” ระบุว่า

“#อุ๊งอิ๊งหยุดให้ร้ายมาตรา 112

ม.112 สำหรับอิ๊งไม่ล้มเจ้า, ที่ผ่านมา ไม่เคยมีคดีฟ้อง 112 เยอะขนาดนี้มาก่อน เอา 112 มาเล่นเป็นการป้ายสีทางการเมือง เป็นเครื่องมือทางการเมือง มันควรจะกำหนดให้ชัดเจน ใครฟ้องได้ โทษอยู่ที่เท่าไร นี่คือ สรุปคร่าวๆ ที่อุ๊งอิ๊งลูกสาวนายทักษิณ พูดเรื่อง ม.112 ผ่านสื่อสำนักหนึ่ง

สิ่งที่ต้องถาม ลูกสาวนายทักษิณคนนี้ แล้ว ม.112 ทำให้ประชาชนปกติ เดือดร้อนตรงไหน หนูไม่รู้เลยหรือว่า ทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย การที่จะอ้างว่า ม.112 ถูกนำมาป้ายสีทางการเมือง กรุณาอย่าพูดลอยๆ เพราะการพูดลอยๆ แบบนี้ คือ การนำ ม.112 มาเล่นการเมืองเสียเอง

ที่สำคัญ ที่หนูพูดว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีคดีฟ้อง ม.112 เยอะขนาดนี้มาก่อน สิ่งที่หนูต้องรู้ด้วยว่า ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมี การจาบจ้วง ให้ร้ายสถาบันเยอะขนาดนี้มาก่อนเช่นกัน หนูอธิบายได้ไหมว่า ทำไมจึงมีการจาบจ้วง ให้ร้ายสถาบันเกิดขึ้นมาก ในช่วงหลังนี้ หนูต้องศึกษาให้ถ่องแท้

ถามตรงๆ หนูเคยวิเคราะห์สังคมไทยไหมว่า โครงสร้างปัญหาของสังคมไทย ที่ทำให้ประชาชนลำบาก เป็นหนี้เป็นสินนั้น เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ มี choice ให้หนูเลือก ระหว่างเกิดจาก ม.112 หรือเกิดจากนักการเมืองโกง

ท้ายนี้คำพูดที่พูดว่า ม.112 สำหรับอิ๊งไม่ล้มเจ้า อย่าพูดให้ดูเท่ เพราะเจตนาของพวก แก้ ม.112 หรือเลิก ม.112 ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า เข้าข่ายการล้มล้าง ก่อนจะพูดอะไร ควรศึกษาให้ดี แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไร จากพวกจ้องล้มล้าง

ขอย้ำว่า หยุดให้ร้าย ม.112 ได้แล้ว”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การทำผิดกฎหมายของพรรคการเมือง ทั้งที่ในพรรคการเมืองนั้นๆ มีนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญมากมาย ประเด็นจึงน่าคิดว่า ทำไมต้องเสี่ยงที่จะทำผิด หลีกเลี่ยงได้หรือไม่?

ประเด็นต่อมา การอ้างถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองไม่รู้จบ ทั้งที่พรรคการเมืองทำผิดเอง “ทำตัวเอง” ทั้งที่รู้ว่า “เป็นความผิด”

อย่าง กรณี “พรรคเพื่อไทย” ถ้าใช้ “ณัฐวุฒิ” ซึ่งเข้าข่ายทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง พรรคจะใช้ทำไม? ไม่มีใครอีกแล้วหรือที่ช่วยหาเสียงได้?

อย่างไรก็ตาม ถ้าทำผิดแล้ว “ยอมรับผิด” แต่โดยดี ไม่ก่อความวุ่นวาย อ้างถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ก็ทำไปเถิด ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน!


กำลังโหลดความคิดเห็น