xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ข้อกฎหมาย “ณัฐวุฒิ” ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่เข้าลักษณะผู้ช่วยหาเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ข้อกฎหมาย “ณัฐวุฒิ” ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่เข้าลักษณะผู้ช่วยหาเสียง เข้าข่ายครอบงำพรรคการเมือง เข้าเงื่อนไขการยุบพรรค


เมื่อวันที่ 10 มี.ค. จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบกรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทย แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย

ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ได้อธิบายและให้ความรู้แก่ประชาชน ว่า โครงสร้างพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ได้บัญญัติกำหนดตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเพียงตั้งกลุ่มขึ้นมาทำกิจกรรมทางการเมือง โดยใช้เทคนิคเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่ถูกติดสิทธิทางการเมือง ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามริมถนนสาธารณะทั่วไป แผ่นป้ายนโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นรูปภาพ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่กลับไม่มีภาพการนำเสนอนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาเสนอต่อประชาชน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์ชี้แจงค่าใช้จ่ายต่อ กกต.หรือไม่

ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง” หมายถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย ซึ่งบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ถูกจำกัดสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้ง จนกว่าที่จะพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ถึงจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ดังนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง จึงไม่อาจเป็นผู้ช่วยหาเสียง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ให้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียง เพราะขาดหลักเกณฑ์ในการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงมีลักษณะเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจการของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560

เมื่อถามว่า หาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รับจ้างเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย สามารถกระทำได้หรือไม่ “ดร.ณัฎฐ๋” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า หากเป็นสัญญาจ้างทำเพื่อมุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นหลัก สามารถกระทำได้ แม้ไม่ได้มีสัญญาว่าจ้าง แต่ต้องแจ้ง กกต.ประจำจังหวัดในพื้นที่ในวันที่หาเสียงหรือปราศรัย แต่เงื่อนไขสำคัญหลัก ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่พรรคเพื่อไทย ชี้แจงต่อ กกต.เป็นการจ้างทำของหรือไม่ นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงคำปราศรัยจ้างในการหาเสียง เป็นผู้กำกับ ควบคุมเองหรือไม่อย่างไร เท่าที่ติดตามข่าว เห็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย จ้างหลักร้อย เล่นหลักล้าน ต้องมาถอดคำปราศรัยว่า การปราศรัยหรือหาเสียง ครอบงำพรรคหรือไม่ แม้ไม่ผิดระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 โดยอาศัยช่องข้างทำของ แต่ติดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ใดมิใช่สมาชิกกระทำการใดควบคุม ครอบงำพรรค พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า ระหว่างคุณเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สถานะทางกฎหมายพรรคการเมืองไม่ต่างกัน เมื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้ ออกช่องรับจ้างทำของ แต่ติดกับดัก มาตรา 28 มาตรา 29 แห่งกฎหมายพรรคการเมือง เป็นอันตรายแก่พรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 ห้ามไว้โดยชัดแจ้งห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำพรรค ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ยุบพรรคตามมาตรา 92(3) ตรงนี้ ผมพูดตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสวันประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย วานนี้ (9 มี.ค.) กระแสปั่น 310 ที่นั่ง จะเป็นพรรคการเมืองตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว มีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง กล่าวว่า กระดานการเมืองของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่อยู่ที่ได้จำนวนเท่าไหร่ แต่จำนวนที่คาดหมายเป็นการปั่นกระแส หากเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2540 อาจเป็นไปได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ออกแบบ ส.ว.จำนวน 250 เสียง และลงมติเห็นชอบร่วมตามมาตรา 272 โอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว ยืนยันว่า โอกาสน้อย หรือว่าแทบไม่มีโอกาสเลย เพราะพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวบรวมเสียงเพียงไม่น้อยกว่า 126 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ งูเห่าทางการเมืองเกิดขึ้นแน่ในรัฐบาลสมัยหน้า เพราะฉะนั้น โอกาสคว้าที่นั่ง ไม่เกิน 170 ที่นั่ง บวกลบไม่เกิน 5 ส่วนการตั้งเป้า 310 ที่นั่ง เป็นเทคนิคปั่นกระแส ไม่ต่างจากโพลลับ ไม่อ้างอิงแหล่งที่มา เรียกว่าตีกินทางการเมือง ฝันกลางวันแสกๆ โอกาสเป็นไปได้น้อยมาก ที่สำคัญ การกระทำของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งมิใช่เป็นผู้ช่วยหาเสียง ไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกตัดสิทธิการเมืองและตัดสิทธิการเลือกตั้ง แม้ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ดาหน้าอ้างว่า เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ควรจะนำเหตุต่อสู้ไปให้การต่อ กกต.ไม่ใช่แถลงให้ประชาชนสับสนข้อเท็จจริง จะนำเป็นบ่วงสำคัญนำไปสู่ยุบพรรคเพื่อไทย โดย กกต.ไต่สวน อาศัยระเบียบใหม่ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียน พ.ศ. 2566 ฉบับยุบพรรคติดเทอร์โบ ประกอบกับระเบียบ  กกต.ว่าการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566) ดังนั้น จะโพลลับ 250 ที่นั่ง หรือตั้งเป้า 310 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ขอให้ประชาชนหรือคอการเมืองให้พิจารณา ถึงวันเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะเป็นลักษณะ “แลนด์สไลด์” หรือ “แลนด์สลบ” ทั้งแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น