เมืองไทย 360 องศา
รู้กันอยู่แล้วว่าอีกไม่กี่วัน ก็จะมีการยุบสภา และเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลายพรรคการเมืองต่างก็เริ่มหาเสียงกันอย่างเข้มข้นกันแล้ว อย่างไรก็ดี หากโฟกัสไปที่สนามภาคใต้ ที่หลายคนมองเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องดุเดือดอย่างแน่นอน เพราะในทางการเมืองย่อมรู้กันดีอยู่แล้วว่า เป็น “ฐาน” สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ และอย่างที่เห็นกันอยู่แล้วว่าเหลืออยู่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
ดังนั้น ไม่ว่าศึกเลือกตั้งหรือว่าศึกแบบไหนก็ตาม หากต้องการอยู่รอดก็ต้องรักษาที่มั่นสุดท้ายเอาไว้ให้ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาย่อมต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี มันจะทำได้แค่ไหน ในเมื่อคู่แข่งก็ล้วนเติบโต และมีหลายพรรคที่ต่างจ้องลงไปปักธงให้ได้
หากย้อนกลับไปพิจารณาจากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์สั่นคลอนอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้ ส.ส.เข้ามาเพียง 22 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 50 ที่นั่ง ส่วนที่เหลืออีก 28 ที่นั่ง เป็นของพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาชาติ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสูญเสียที่นั่งในภาคใต้เป็นจำนวนมาก และเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่พวกเขาต้อง “สูญพันธุ์”
สำหรับภาคใต้ในทางการเมืองแล้วไม่ต่างจาก “เมืองหลวง” ของพวกเขา เมื่อหลายปีก่อนถึงกับมีการพูดกันว่า แม้ว่าจะส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงไปแข่งขันก็ชนะ ความหมายที่สื่อให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่หัวใจของคนใต้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ทั้งพรรคที่เปลี่ยนแปลงไป คนก็เปลี่ยนไป ขณะที่พรรคคู่แข่งก็แข็งแกร่ง
คราวที่แล้วเกิดปรากฏการณ์ “กระแสลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชาวใต้สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้คราวนั้น การเลือกตั้งปี 62 มีการเทเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อเขาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนชนะได้ไปถึง 13 ที่นั่ง บวกอีกหนึ่งที่นั่ง จากการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ถือว่าไม่ธรรมดา กับการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคน้องใหม่
อย่างไรก็ดี คราวนี้มีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างออกไป นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐ มีการแตกออกมาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ
แม้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่เป้าหมายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถ “ดูด” เอาอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรคคนสำคัญระดับอาวุโสทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นจำนวนมาก จนทำให้เวลานี้เป็นที่จับตากันว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง
หากพิจารณาจากผลโพลที่ออกมา ชี้ให้เห็นว่า “กระแสบิ๊กตู่” ในภาคใต้ ยังแรงมาเป็นที่หนึ่ง แม้ว่าเมื่อถามถึงพรรค ยังมีชื่อประชาธิปัตย์ มาเป็นลำดับที่สองก็ตาม รวมไปถึงพรรคอื่น เช่น เพื่อไทย ที่ยังอยู่ในลำดับต้นๆในภาคใต้ ซึ่งกว่าจะถึงการเลือกตั้งยังมีเส้นทางอีกพักหนึ่ง ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปอีกแบบก็เป็นได้
แต่ก็พอสรุปได้ว่า นาทีนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเจอศึกหนักมาก เพราะคู่แข่งล้วนน่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย หรือแม้แต่เพื่อไทย รวมไปถึงพรรคอื่นที่ต้องการปักธงในภาคใต้ เช่น ก้าวไกล ชาติพัฒนากล้า เป็นต้น ยังไม่นับ ประชาชาติที่เขาปักธงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่แล้ว
เมื่อสภาพเป็นอย่างที่เห็น นั่นคือ สภาพของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคการนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค รวมไปถึงขุนพลภาคใต้ทั้ง นายนิพนธ์ บุญญามณี และ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่ยังเกิดอาการ “เลือดไหล” อย่างหนักจะเอาอยู่หรือไม่ เพราะหากพิจารณากันตามอาการที่เห็นในเวลานี้แม้ว่าหลายคนจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์น่าจะได้มากกว่าเดิมก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาจากอาการ และคำพูดของ “นายหัวชวน” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องการใช้เงิน 200 ล้านบาท ทุ่มซื้อคนของพรรค
โดย นายชวน หลีกภัย ยอมรับว่า มีปัญหาภายในพรรคบ้าง เช่น มีบางคนในพรรคอยากให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค บางคนมาเจรจาขอให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค ซึ่งได้ปฏิเสธไป เนื่องจากเป็นมติพรรค ที่เลือก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ทุกคนในพรรคก็ต้องช่วยกันทำงาน อีกทั้งการเปลี่ยนม้ากลางทาง อาจไม่เหมาะสม ดังนั้น ทางเดียว คือ หากต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องรอให้ครบวาระและเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
“ผมไปพบเพื่อนนักการเมืองที่ย้ายพรรค ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล ท่านโทร.หาผมว่า เมื่อคุณชวนกลับแล้ว ผมกอดภรรยาร้องไห้ จะออกจากพรรคได้ยังไง จะบอกคุณชวนยังไง วันนั้นบอกไม่ย้าย ท่านบอกผมว่า เค้าให้ท่าน 200 ล้าน ให้กวาดจังหวัดนั้น จะให้เป็นรัฐมนตรี ท่านก็กลับมา เราก็หมดห่วง สุดท้ายไปอีกพรรคหนึ่ง ได้ข่าวว่า นายกฯ ดึงตัวไป นี่ไม่ทราบนะ ไม่ได้ถามนายกฯ” นายชวน กล่าว
นายชวน ยังกล่าวอีกว่า มีบางคนมาพบยืนยันไม่ออก เพราะรู้สึกว่าในยามแบบนี้เอาเปรียบพรรค แยกตัวไปเหมือนคบไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ขอให้ทุกคนรู้ว่า พรรคใดเป็นพรรคเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีพรรคเฉพาะกิจ เมื่อสำเร็จตามวัตถุประสงค์ หรือ ล้มเหลวตามวัตถุประสงค์ ก็คงจะเปลี่ยนแปลง
ถามว่า ในฐานะคนเก่าคนแก่ของพรรค คิดว่า จะหยุดความขัดแย้ง และการย้ายพรรคยังไง นายชวน กล่าวว่า สำหรับคนที่จะไป คงต้องปล่อยไป แต่เข้าใจว่าบางคนอายุมากขึ้นกลัวว่าถ้าอยู่ประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งหน้า แต่ถ้าไปอยู่พรรคเล็กๆสักพรรคหนึ่ง เป็นบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ พรรคที่ใครเป็นรัฐบาลก็ร่วมด้วย คนพวกนี้ก็หวังผลจะเป็นรัฐมนตรี
“ความขัดแย้งมีอยู่บ้าง คงไม่มากกว่านี้ เพราะคนที่ออกไปก็ไม่ได้เกลียดชัง แต่อาจไม่พอใจหัวหน้า และถูกทาบทามไป ครั้งนี้ต้องยอมรับว่า มากที่สุดไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้เห็นถึงความอยากเอาชนะ จึงต้องทำบางอย่างที่เราไม่คิดว่าจะทำ แต่ถ้ามันไม่ถูกต้อง ก็จะมีอันเป็นไป เชื่อว่าอะไรที่ไม่ชอบธรรมถูกต้องไม่ว่าองค์กรไหน วันหนึ่งต้องมีอันเป็นไป เลยเตือนคนประชาธิปัตย์ อย่าหวั่นไหว ขอให้ยืนหยัดช่วยพรรค คิดว่าคงไม่ตกต่ำที่สุด” นายชวน กล่าว
แน่นอนว่า หลังจากคำพูดดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมา ทั้งคนที่ถูกพาดพิงถึง ซึ่งในเรื่องปม 200 ล้านนั้น นายชุมพล กาญจนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาปฏิเสธเรื่องจำนวนเงินดังกล่าว และต่อมา นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ได้ออกมาชี้แจงว่า พรรคที่เสนอเงินดังกล่าวไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติ
ส่วนคนอื่นๆ ที่ย้ายออกไปจากพรรคหลายคนที่ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด เช่น นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมไปถึง นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นต้น
กลายเป็นว่า คำพูดของ นายชวน หลีกภัย กำลังถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาสำคัญ ส่วนจะหวังว่าจะสามารถพลิกฟื้นกระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ให้กลับมาได้อีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องติดตาม เพราะหากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน คำพูดลอยๆ ของเขาทำนองว่า “จำลองพาคนไปตาย” จากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี 35 ก็สามารถสกัดพรรคพลังธรรมของ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ในยุคนั้นลงได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี คราวนี้อาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิงแล้ว และยังต้องพิสูจน์กันอีกว่า “กระแสลุงชวน” ยังขลังแบบเดิมหรือเปล่า อีกทั้งเวลานี้พรรคกำลังทำท่าต้องปวดหัวกับคำพูดของสมาชิกพรรคบางคน ที่ไปแขวะคู่แข่ง ไปด้อยค่าวุฒิการศึกษา จบในประเทศ จนทำให้เวลานี้กำลังกลายเป็นกระแสการเมืองในพื้นที่จนต้องออกมาขอโทษขอโพยกันยกใหญ่
เอาเป็นว่านาทีนี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ หากโฟกัสเฉพาะภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นหลักที่เหลืออยู่ยังถือว่าหนักเอาการ แม้ว่าจะระดมระดับ “นายหัว” ออกมาช่วยอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม โดยเฉพาะการเลือกตั้งคราวนี้ต้องจับตาดูบทบาท นายชวน ที่จะเป็นคนนำทัพในภาคใต้ที่แท้จริง รวมไปถึงการใช้ยุทธวิธีเก่าเหมือนกับที่เคยใช้ได้ผลมา “เตะสกัด” คู่แข่งว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งกลายเป็นว่า “ปากพาจน” กำลังกลับมาย้อนรอย เพราะฝ่ายตรงข้ามกำลังนำเรื่อง “ด้อยค่าการศึกษา” มาขยายผลทางการเมืองโจมตีกลับ งานนี้ต้องจับตาว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอยู่หรือไม่ !!