xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อแดงยื่นหนังสือฝ่ายค้าน ชง 8 ข้อ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เรียกร้องความเป็นธรรมเหตุการณ์ปี 53

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธิดา-หมอเหวง” นำคณะ คปช. 2553 ยื่นหนังสือถึงตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน เสนอ 8 ข้อ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เรียกร้องความเป็นธรรมให้เหตุการณ์สลายแดง “ชลน่าน” รับเรื่องผลักดันเป็นนโยบาย

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.2553) นำโดย ผศ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ยื่นหนังสือถึงตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และ พรรคปวงชนไทย มีใจความสำคัญของข้อเรียกร้องดังนี้

1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน ไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าได้ นับจากการทำรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เพื่อมิให้มีการฆ่าประชาชนกลางถนนซ้ำซากโดยผู้กระทำและสั่งการ “ลอยนวล พ้นผิด” ซึ่งอาจเกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง

2. แก้ไขกฎหมาย กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมืองดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป

3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับมาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทย เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555

4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ตามสัดส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมืองทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้ลงนามไว้ในสหประชาชาติ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง พ.ร.บ.องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมืองดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชนอำนาจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นถึงปลาย อำนาจองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ล้วนต้องยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งกองทัพ โครงสร้างการบริหารขององค์กรเหล่านี้ ต้องให้อำนาจประชาชนควบคุมได้ ไม่ใช่สมคบกันจัดการประชาชน และมีที่มาจากกลุ่มอภิชนด้วยกัน

7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย และการคอร์รัปชันส่งนายใหญ่ตามลำดับ ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้น ก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย เพราะตราบเท่าที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง วุฒิสมาชิกถูกแต่งตั้งจากรัฐทหารจารีต อำนาจประชาชนก็ถูกจัดการทำลาย ยุบพรรคการเมืองโดยง่าย จับกุมคุมขัง ลงโทษประชาชนผู้เห็นต่างเหมือนเช่นทุกวันนี้

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การยื่นข้อเสนอในช่วงใกล้การปิดสมัยการประชุม หมายความว่า พรรคฝ่ายค้าน สามารถนำข้อเสนอไปดำเนินการต่อได้ ขอขอบคุณในความมั่นใจนี้ โดยเราจะนำข้อเสนอไปพิจารณา แม้ไม่มีอำนาจในการแก้ไขทันที แต่ขอนำมาเข้าสู่นโยบายของพรรคได้อย่างไรบ้าง และสุดท้ายขอขอบคุณทางคณะที่ไม่ย่อท้อ อดทนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ

ด้าน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายขื่อพรรคก้าวไกล ระบุว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ส่วนตัวไม่เคยลืม เมื่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศถึงทางตัน จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการศาลอาญาต่างประเทศ วันนี้ในนามก้าวไกล ไม่ได้รับข้อเสนอเพื่อไปทำนโยบาย แต่เราทำนโยบายทั้ง 8 ข้ออยู่แล้ว ทั้งยกเลิกองค์กรของทหาร เตรียมผลักดัน ICC เป็นวาระเร่งด่วนทันทีที่มีอำนาจ เราได้เน้นย้ำนโยบายพรรคอย่างชัดเจนมาโดยตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น