xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิญา” ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.สั่งเลือกตั้ง 62 โมฆะ ปม กกต.นับราษฎรไม่มีสัญชาติไทยคำนวณ ส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ สมาพันธ์ ปชช.ตรวจสอบรัฐไทย ยื่นคำร้อง ผู้ตรวจฯ ชงศาล รธน.วินิจฉัยสั่งเลือกตั้ง 62 เป็นโมฆะ ปม  กกต.นับรวมราษฎรไม่มีสัญชาติไทยคำนวณจำนวน ส.ส.

วันนี้ (22 ก.พ.) นายสนธิญา สวัสดี เลขาธิการสมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องความพร้อมเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งเพิกถอนให้การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 เป็นโมฆะ

นายสนธิญา กล่าวว่า ตามที่ กกต. จะดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 66 ซึ่ง กกต. ได้เตรียมการจัดการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัดจะพึ่งมีและแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 86 โดยมาตราดังกล่าวให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.จำนวนที่ได้รับ ให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคน ซึ่งสูตรการคิดจำนวน ส.ส.ของการเลือกตั้งปี 66 นี้ พิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 จำนวน 66,090,475 คน จึงมีจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน อีกทั้ง กกต.ก็ยอมรับว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 กกต. ได้นำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณรวมกันกับผู้มีสัญชาติไทยเป็นจำนวนราษฎรทั่วประเทศในการกำหนดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันพึงมี ตามมาตรา 86 นี้ด้วย ซึ่งเห็นว่าการตีความคำว่าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 60 จะต้องยึดตามความหมายที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา การที่ กกต. นำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณรวมกับผู้มีสัญชาติไทย เพื่อกำหนดจำนวน ส.ส. อันพึงมีในแต่ละจังหวัดจึงไม่ถูกต้องและชอบธรรม อีกทั้งการนำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส.อันพึ่งมี ตามมาตรา 86 ก็ยังขัดแย้งกับมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ระบุให้เฉพาะบุคคลผู้มีสัญชาติไทยและผู้ที่ได้แปลงสัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีมีสิทธิเลือกตั้ง

นายสนธิญา กล่าวอีกว่า การที่ กกต.มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 66 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยคำว่า ราษฎรทั้งประเทศตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น หมายความเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือรวมไปถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทยด้วยนั้นแสดงว่า กกต.ไม่มั่นใจว่าการนำผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตตามมาตรา 86 ในการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 นั้น ถูกต้องหรือไม่ โดยเพิ่งมาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งในปี 66 ซึ่งแท้จริงแล้ว กกต. ควรต้องส่งเรื่องการตีความมาตราดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งของวันที่ 24 มี.ค. 62 มิใช่เพิ่งจะมาส่งให้ตีความภายหลังการเลือกตั้ง

นายสนธิญา กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี 62 นั้น จึงมีปัญหาความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 86 เนื่องจาก กกต.ชุดนี้ ได้นำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทยหลายแสนคนมาเป็นฐานคิดคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดความผันแปรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง อันทำให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 62 เกิดความไม่เที่ยงธรรม จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 5 และมาตรา 86 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง จึงมายื่นเพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งให้การจัดการเลือกตั้งของ กกต.เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 86 โดยขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และผลการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดย กกต.ชุดดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น