xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.นัด 3 มี.ค.ชี้ขาดนับรวมราษฎรไม่มีสัญชาติไทย คำนวณส.ส.-แบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลรธน.นัด 3 มี.ค.ชี้ขาดปมนับรวมราษฎรไม่มีสัญชาติไทย คำนวณส.ส.-แบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ หากไม่นับต้องแบ่งเขตใหม่ 8 จังหวัด

วันนี้ (21 ก.พ.)ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ซึ่งกกต. คิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีโดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ล่วงมามาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดต่อมามีผู้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งและขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภารัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค หนึ่ง(2) และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7(2)คือต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้วและในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่ากกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของกกต.กรณีประกาศกกต.ฉบับดังกล่าวต่อมารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคน ในคณะรัฐบาลและส.ส.บางคนแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของกกต.ที่เกิดขึ้นแล้วและกกต.ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2)และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7(2) จึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและแจ้งกกต.ทราบ หากประสงค์ชี้แจงเพิ่มเติมให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 24 ก.พ.นี้ และศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงไม่ทำการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรค 1 โดยกำหนดนับแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค.เวลา 9:30 น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแนวทางการชี้ขาดกรณีนี้มี 2 แนวทาง คือ 1.การดำเนินการของ กกต.ในเบื้องต้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้ก็เดินหน้าต่อ 2.ศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ กกต.ก็ต้องดำเนินการคำนวณใหม่

ซึ่งในส่วนของกกต.แม้วานนี้(20ก.พ.)จะประชุมเริ่มพิจารณาเลือกรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตแล้ว แต่ก็มีรายงานว่าสำนักงานฯได้เตรียมแผนรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่หากออกมาว่าการคิดจำนวนส.สพึงมีแต่ละจังหวัดและการคำนวณราษฎรเพื่อการแบ่งเขตไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแบ่งเขตโดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยเตรียมไว้

อย่างไรก็ตามหากมีการแบ่งเขตใหม่ โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยจะทำให้ 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลง คือ 4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย
1. ตาก,2. เชียงราย ,3. เชียงใหม่ และ 4. สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่ม คือ 1. อุดรธานี ,2. ลพบุรี ,3. นครศรีธรรมราช และ 4. ปัตตานี จากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หากด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต


กำลังโหลดความคิดเห็น