เมืองไทย 360 องศา
กลายเป็นเรื่องเป็นราวจนได้สำหรับพรรคเพื่อไทย หลังจากมี ส.ว.บางคน เช่น นายวันชัย สอนศิริ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ออกมาให้ความเห็นในเชิงปฏิเสธ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรค โดยสรุปความก็เป็นแบบ“มือไม่ถึง” อะไรประมาณนี้ ขณะเดียวกันยังระบุว่า หากมั่นใจว่าสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ในสภาได้เกิน 376 เสียงก็ไม่จำเป็นต้องง้อหรือสนใจส.ว.เลยก็ได้
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พรรคเพื่อไทย (พท.) และนักวิชาการบางส่วนแสดงความเห็นตอบโต้กรณีที่ระบุว่า ส.ว.บางส่วน จะไม่โหวตให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพท. หากน.ส.แพทองธาร ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุด จะถือว่าเป็นการไม่เคารพเสียงประชาชนหรือไม่ว่า ตนแสดงจุดยืนมาตลอดว่า ถ้าพรรคพท. ได้ส.ส.เกิน 250 เสียงขึ้นไป และเสนอน.ส.แพทองธาร ตนก็เลือก ส่วนพรรคพวกตน ส.ว.บางส่วน หรือพรรคการเมืองอื่น ซึ่งเท่าที่ตนได้ยินมาบอกว่าไม่เอาด้วยกับน.ส.แพทองธาร เวลาประชาชนเลือกเขาไม่ได้เลือก น.ส.แพทองธาร แต่เลือกพรรคพท. เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรค สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้ 3 คน ดังนั้นจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะตัวเลือกแคนดิเดตนายกฯในพรรค พท. ไม่ได้มี น.ส.แพทองธารคนเดียว
นายวันชัย บอกว่า การพยายามนำมาผูกกันว่า พรรคพท. ชนะแล้วจะได้น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ เป็นข้อเสนอที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะคนจะเป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศและสภา ต้องโหวตกัน ขณะนี้สภาฯ ยังไม่ได้โหวตว่าจะเอาน.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ ดังนั้นพรรคพท. อาจจะต้องตกลงกับพรรคการเมืองอื่น เพื่อหาชื่อที่ไม่ใช่ น.ส.แพทองธาร และคิดว่าสภาฯจะให้ผ่าน หากขืนดัน หรือแข็งขืน เผลอๆ พรรคพท.อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล
เมื่อถามว่า หากไม่สามารถรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกฯ จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่เกิดแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หากสภาฯโหวตกี่ครั้งก็ไม่เกิน 376 เสียง จะไปสู่ก๊อกสอง คือ การเสนอชื่อบุคคลที่สาม หรือบุคคลภายนอกมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่จากที่ตนประเมิน เชื่อว่าสามารถโหวตกันได้ เพราะงานนี้มองดูตรงๆ อย่างไรก็คงไม่มีใครสามารถรวมเสียงได้ 376 เสียง ถ้าไม่ใช้เสียงของส.ว.ด้วย ยกเว้นส.ส.สามารถรวมเสียงกันเองได้เกิน 376 เสียง กรณีนี้จะไม่ต้องใช้เสียงของส.ว. แม้แต่เสียงเดียว แต่โดยหลักการเชื่อว่าคงไม่มีซีกใดซีกหนึ่งที่สามารถรวมกันได้ถึง 376 เสียง
"ดังนั้น ในคราวนี้ผมจึงขอประกาศว่า เพื่อต้องการให้เป็นเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ต้องการให้เสียงของส.ว.เข้าไปเกี่ยว แนะนำว่าส.ส.ที่มี 500 คน ควรจะรวมกันเองให้ได้ 376 เสียง เพื่อให้สามารถเป็นรัฐบาลได้โดยไม่ต้องแคร์เสียงของส.ว.แม้แต่เสียงเดียว" นายวันชัยกล่าว
ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขู่จะไม่โหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีว่า การเป็นส.ว.เขาเรียกว่าสภาสูง โดยหลักต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถ ถึงจะได้รับแต่งตั้ง แต่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. โดยเฉพาะนายเสรี รู้จักกัน และเรียนมาด้วยกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีที่ส.ว.มีการพูดว่าหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยังมีอายุน้อยและไม่มีความเหมาะสมเป็นนายกฯ ฟังดูคำให้สัมภาษณ์นายวันชัย ที่บอกว่าหัวหน้าครอบครัวยังอายุน้อย แสดงถึงปัญญาทึบ ไม่ได้มองโลก โดยนายกฯประเทศนิวซีแลนด์ ก็อายุ 30 ปีนิดๆ ขณะที่นายกฯฝรั่งเศสก็ 30 ปีหน่อยๆ ผู้นำครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งไม่ทราบว่าในอนาคตจะเป็นนายกฯหรือไม่นั้น อายุ 37 ปี เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนปริญญาโท จบเมืองนอก เหมาะสมไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง การที่ส.ว.มาพูดว่ายังละอ่อน คนที่ละอ่อนคือนายวันชัย ต่างหาก
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กรณีที่ห้ามไม่ให้ไปจับมือพรรคพลังประชารัฐ และคนนั้น คนนี้ มันเรื่องอะไรของพวกคุณ คุณรู้แล้วหรือว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยความเป็นใครก็ตามถ้ายังมีสติปัญญา ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ ตนพูดความเห็นส่วนตัว เพราะพรรคพลังประชารัฐ คือกากเดนของการรัฐประหาร แล้วมาสถาปนาเป็นพรรคการเมืองอวดดี อวดรู้สู่ฉลาด
เมื่อถามว่า ส.ว.ออกมาพูดแบบนี้เพราะยังมีสิทธิเลือกนายกฯในครั้งหน้า ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่บัดซบ มันไม่ควรมีอย่างนี้แล้ว เพราะให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ. ร่างรัฐธรรมนูญ ตนถามมาตลอด นายมีชัยจบมหาวิทยาลัยไหนมา ถ้ามีลูกจะไม่ส่งลูกไปเรียน เป็นการร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัดซบ แล้วไม่ทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. แต่ให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง แล้วแก้ไขสัดส่วนการเข้าชื่อของส.ส.ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เพื่อป้องกันวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา ที่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประสบ ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้เขียนกันเองไว้ แต่ไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ในขณะนั้นได้
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสจากปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทย หลังจากมีส.ว.บางส่วนแสดงท่าทีชัดเจนว่า “ไม่เอา”น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ความหมายก็คือ ขวาง ไม่โหวตให้เป็นนายกฯแน่นอน นั้นเป็นปฏิกิริยาเดือดดาล นอกเหนือจากการอารมณ์โกรธในลักษณะที่เหมือนกับว่า “บังอาจแตะต้องลูกสาวเถ้าแก่” อะไรประมาณนั้น จึงต้องออกมาแสดงแอ็กชั่น ให้เห็นกันบ้าง
แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เหมือนกับความพยายาม ปลุกต้าน “เผด็จการ” ขึ้นมาเขย่าอีกครั้งหลังจากที่ในช่วงนี้มนต์ขลังในเรื่อง “ฝ่ายประชาธิปไตย”พังทลายลงไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากถูก นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. ออกมาเปิดโปงแบบสิ้นไส้ และยังมีบรรดาอดีตแกนนำอีกหลายคนที่ยกขบวนแยกย้ายกระจัดกระจายกันไปหลายพรรค
อีกทั้งยังมีพรรคคู่แข่งที่เคยมองข้ามแบบไม่เคยให้ราคา ตามขยี้ในพื้นที่ แต่กลายเป็นว่าเวลานี้บางพรรคเริ่มมีกระแสที่น่าจับตามอง จนกลายเป็นคู่แข่งแย่งมวลชนไปได้ไม่น้อย อย่างน้อยก็มีพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่คะแนนเสียงดีเหมือนกัน และที่สำคัญแย่งฐานเสียงในภาคอีสานแบบเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งไม่นับพรรคภูมิใจไทย ที่กำลังขยายพื้นที่ออกมาจากเขต “อีสานใต้” ไปเรื่อยๆ
หากพิจารณาจากสถานการณ์ในความเป็นจริงที่รับรู้กันอยู่ก็คือ จนถึงนาทีนี้ความพยายามในการปลุกกระแส “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร มีแนวโน้มชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า “แป้กแน่นอน” การได้เสียงข้างมากแบบพรรคเดียว หรือการตั้งรัฐบาลผสมแบบน้อยพรรค นับวันยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ทุกอย่างไม่เป็นใจ ยิ่งมาเจอกับการเปิดโปงของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เจอเข้าไปเต็มๆ หลายหลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ดีลลับ”กับพรรคพลังประชารัฐ จับมือกับ “ลุงป้อม” เชื่อว่าส่งผลสะเทือนอย่างหนัก
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มผันแปร เป้าหมายเริ่มห่างไกล มันก็ต้องพยาม “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” หยิบฉวยเอาเรื่องส.ว.ขัดขวาง “อุ๊งอิ๊ง” มาสร้างกระแสอารมณ์ร่วมในเรื่อง “ผลผลิตเผด็จการ” ปลุกความหมายของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งมันก็เหมือนกับการดิ้นอีกเฮือก สร้างฝันกันใหม่หรือเปล่า !!