xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ ส.ว. 6 สาย กลุ่มไหนหนุนใครนั่งนายกฯ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดที่มา ส.ว. 6 สาย เช็กสายไหนหนุนใครนั่งนายกฯ แหล่งข่าวชี้ “ลุงป้อม” คะแนนนำ “ลุงตู่” วงในเผย “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อรอง ส.ว. โหวตเป็นนายกฯ แลกกับการแก้กฎหมายขยายอายุสมาชิกวุฒิสภาออกไปอีก 5 ปี แต่ “ส.ว.บ้านใหญ่” ไม่เล่นด้วย ด้าน “เสรี สุวรรณภานนท์” ระบุหาก “พลังประชารัฐ” จับกับ “เพื่อไทย” ชู “พล.อ.ประวิตร” เป็นนายกฯ เสียง ส.ว.อาจไม่เป็นเอกฉันท์ ขณะที่ “ไพศาล พืชมงคล” เปิดประเด็นร้อน “บิ๊กป้อม” ไม่ร่วมสังฆกรรม “บิ๊กตู่” เหตุผูกใจเจ็บ ถูกยึดอำนาจ

กลายเป็นกระแสวิจารณ์อย่างหนัก หลังจากที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า ส.ว.จะไม่โหวตเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย (พท.) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลายฝ่ายวิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าเหมาะสมหรือไม่

ขณะที่บางคนอยากรู้ว่าในเมื่อ “ลุงตู่” กับ “ลุงป้อม” เป็นเหมือนน้ำแยกสายไผ่แยกกอ แล้ว ส.ว.จะโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ ระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ? 

ก่อนจะประเมินกำลังว่า “ลุงตู่” หรือ “ลุงป้อม” ใครมีแรงหนุนมากกว่ากัน คงต้องทำความรู้จัก ส.ว.ชุดนี้ก่อนว่ามีกี่กลุ่ม กี่สาย


เส้นทาง ส.ว. 6 สาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันมี 6 สายด้วยกัน ประกอบด้วย

1.ส.ว.สายลุงตู่ กลุ่มนี้มีประมาณ 60 คน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

2.ส.ว.สายลุงป้อม มีประมาณเกือบ 80 คน กลุ่มนี้ให้การสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เช่นกัน

3.ส.ว.บ้านใหญ่ คือ ส.ว.ที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ส่งมา แล้วให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกอีกที กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 50 คน ดังนั้นเวลาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกลุ่มนี้จะยกมือสนับสนุนหัวหน้าพรรคซึ่งบ้านใหญ่หรือกลุ่มของตนเองสังกัดอยู่ เช่น ส.ว.ที่มาจากบุรีรัมย์ ก็โหวตให้นายกฯ ที่เสนอชื่อโดยพรรคภูมิใจไทย ส.ว.ที่มาจากเชียงใหม่ก็โหวตให้นายกฯ ที่เสนอชื่อโดยพรรคเพื่อไทย

4.ส.ว.สายแป๊ะ คือ ส.ว.สายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 25 คน เช่น นายสมชาย แสวงการ ซึ่งทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ นายมีชัย จะเสนอพรรคพวกของตนเข้ามาเป็น ส.ว. อยู่ในสภานิติบัญญัติ โดยอ้างว่าเป็นผู้ชำนาญการในสภา มีหน้าที่คุมวิป ส.ว. คุมเสียงในสภา ซึ่งพวกนี้จะคุมเกมในสภามาโดยตลอด ปัจจุบัน ส.ว.สายแป๊ะ วิ่งหา พล.อ.ประวิตร เพราะกลุ่มนี้จะดูกระแสประชาชนด้วยเช่นกัน

5.ส.ว.ไพ่ฝาก คือ ส.ว.ที่เป็นเด็กฝากของผู้หลักผู้ใหญ่ มีอยู่ประมาณ 20 คน ซึ่งกลุ่มนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าจะสนับสนุนใคร เช่น นาย ก. อาจมาฝากกับ พล.อ.ประวิตร นาย ข. มาฝากกับ พล.อ.ประยุทธ์ บ้างก็เป็นเด็กฝากขององคมนตรี บ้างก็เป็นเด็กฝากของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี

6.ส.ว.สายข้าราชการประจำ มีประมาณ 15 คน เช่น คนที่เรียน วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) โดยมีทั้งที่อยู่ในสังกัด พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะมีฐานของ วปอ.รุ่น 57

ทั้งนี้ แหล่งข่าว ระบุว่า “โอกาสที่ ส.ว.จะเลือก พล.อ.ประวิตร น่าจะมีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือเมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ ส.ว. ทาง พล.อ.ประวิตร ช่วยดูแลช่วยเหลือ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส.ว.คนไหนเดือดเนื้อร้อนใจอะไร หรือจะฝากลูกฝากเต้าก็ไปหา พล.อ.ประวิตรทั้งนั้น ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ แกไม่เอาใคร แน่นอนว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ต้องหนุน พล.อ.ประวิตร อย่างเสรี (เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา) กับวันชัย (วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา) เป็นพวกวิ่งไปหาตำแหน่ง อาสาทำโน่นทำนี่ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ สองคนนี้จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร”

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
ส.ว.บ้านใหญ่หนุน "บิ๊กป้อม"

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน 250 ส.ว.ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากเมื่อก่อนมี ม.44 ทำให้ ส.ว.อยู่ในแถว แต่ปัจจุบันไม่มี ม.44 แล้ว เลยแตกแถวกันหมด ส.ว.บางกลุ่มมองว่าการที่ ส.ว.แตกกันทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง จึงต้องการขยายอายุ ส.ว.ออกไปอีก 5 ปีเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง แต่ ส.ว.บ้านใหญ่ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคต่างๆไม่เล่นด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็แย้มว่าหากได้เข้าไปเป็นรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่กำหนดว่าต้องไม่เกิน 8 ปี โดยแลกกับการขยายอายุ ส.ว.ออกไปอีก 5 ปี แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แปลว่า จะไม่มีพรรคไหนที่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์

“ถ้าเดินตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนเดียวเลย 20 ปี ซึ่งไม่มีพรรคไหนยอมแน่ ประชาชนก็ไม่ยอม แต่ถ้า พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ก็เป็นแค่ 4 ปี คนอื่นจะได้เป็นนายกฯ บ้าง ดังนั้น ส.ว.บ้านใหญ่ย่อมไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์” แหล่งข่าว ระบุ


หาก พปชร.จับกับ พท.
ส.ว.อาจไม่หนุนเต็มร้อย


อย่างไรก็ดี กรณีที่ ส.ว.วันชัย บอกว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งข้อรังเกียจ ส.ว.มาตลอด โดยอ้างว่าไม่ได้มาจากประชาชน และเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แต่ไม่สำเร็จ ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และเพื่อไทยก็พยายามให้ร้าย ส.ว.จึงเป็นสาเหตุให้ ส.ว.ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย

ส่วนที่มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐอาจจับมือกับเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายเสรี มองว่า ส.ว.จะโหวตให้ พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น การลงมติคงไม่เป็นเอกฉันท์ บางส่วนน่าจะยกมือให้ ขณะที่บางส่วนอาจไม่สนับสนุน แต่ถ้าเป็นกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เช่นกัน ส.ว.คงต้องดูว่าพรรคไหนได้คะแนนเสียงมากกว่าก็จะสนับสนุนแคนดิเดตของพรรคนั้นเป็นนายกฯ

“ถ้าพลังประชารัฐไปจับกับเพื่อไทยการโหวตเลือกนายกฯ น่าจะมีปัญหา เพราะ ส.ว.กับเพื่อไทยมีข้อบาดหมางกันอยู่ แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่ออุ๊งอิ๊ง ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ส.ว.คงไม่โหวตให้ คือคุณไปตั้งข้อรังเกียจเขา เขาก็ไม่สนับสนุนคุณเป็นธรรมดา” นายเสรี กล่าว

ขณะที่ นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ชี้ว่า การที่ นายวันชัย แสดงความเห็นว่า ส.ว.จะไม่โหวตเลือก น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอนนั้น เป็นการแสดงความเห็นฝักใฝ่พรรคการเมืองซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ถ้ามีคนร้องต่อ ป.ป.ช. ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นายวันชัยอาจถูกเพิกถอนออกจากตำแหน่งได้ อีกทั้งการแสดงความเห็นดังกล่าวยังอาจกลายเป็นการจุดประเด็นให้คนแห่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพื่อสกัด พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะเห็นได้ว่าหลังจากที่นายวันชัย แสดงความเห็น คะแนนนิยมของเพื่อไทยพุ่งแรงมาก

“ตอนนี้มีกระแสที่ชาวบ้านระดมพลไปช่วยเพื่อไทยเพื่อไม่ให้ถูก ส.ว.ข่มเหง กระแสไปถึงปักษ์ใต้ ตอนนี้ภาคใต้พรรคเพื่อไทยก็ได้ไปแล้ว หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ข้อมูลล่าสุดจาก Google Trend พบว่าเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมในกรุงเทพฯ ไปถึง 62% นอกจากนั้น ยังมีคนที่ไม่พอใจการบริหารงานที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติผลักดันให้ขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. ประชาชนก็ไม่พอใจเพราะเท่ากับเอาเงินภาษีของประชาชนไปหาเสียง พอพรรคฝ่ายค้านออกมาคัดค้าน ก็ให้ อบต.ออกมาขู่ว่าอย่าไปเลือกพรรคเหล่านี้ ประชาชนก็ยิ่งไม่พอใจ” นายไพศาล ระบุ

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
พลังประชารัฐ ทิ้งห่างรวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้ นายไพศาล ประเมินว่า หากเทียบคะแนนนิยมระหว่างพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พลังประชารัฐยังนำรวมไทยสร้างชาติอยู่พอสมควร โดยจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ตกลงไปมากเนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับจริยธรรมของตำรวจ ปัญหาเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ อย่าง กรณีเรือรบหลวงที่เพิ่งจมไปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

จะเห็นได้ว่าตอนนี้นักการเมืองที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มกลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ ทั้งทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่เอา ร.อ.ธรรมนัส ดังนั้น ตอนนี้ทีมที่อยู่ในพลังประชารัฐคือพวกที่ “ไม่เอาลุงตู่” ทั้งนั้น ไม่รู้ว่ามีกี่สาย เพราะคนบาดเจ็บจากบิ๊กตู่กันเยอะ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติที่  พล.อ.ประยุทธ์ ไปสังกัดกระแสไม่สู้ดี ส.ส. 25 ที่นั่ง (เพื่อให้สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ) ยังไม่รู้จะไปเอาจากไหน ตอนนี้ผู้สมัคร ส.ส.ของรวมไทยสร้างชาติยังได้ไม่ถึง 14 คนเลย

นายไพศาล กล่าวต่อว่า คนที่มาลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นล้วนแต่เป็น ส.ส.สอบตก อย่าง “แรมโบ้” เสกสกล อัตถาวงศ์ และวิทยา แก้วภราดัย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพภาคอีสาน ก็เป็น ส.ส.สอบตก จะไปสู้กับพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยได้หรือ สองคนนี้ไม่มีฐานมวลชน แล้วจะรบได้ยังไง หรือให้ นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นแม่ทัพดูแลภาคใต้ ธนกรก็เป็น ส.ส.สอบตกอีก ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ซึ่งมาดู กทม.ก็ไม่มีคะแนนเสียง เพื่อไทย กับก้าวไกลกวาดคะแนนไปหมด ที่สำคัญจะเลือกตั้งอยู่แล้วแต่เลขาธิการพรรคบอกกำลังทำนโยบายอยู่

“ที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง มันเลยมาแล้ว ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้วิธียุบสภาเพื่อให้เข้าเงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 30 วัน ก็จะไปยื่นสมัครได้ถึงต้น เม.ย.2566 แต่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปออกมาแล้ว ปัญหาคือจะยุบสภาได้หรือเปล่า แล้วการจะยุบสภาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคตัวเองจะเป็นการใช้อำนาจที่ถูกต้องหรือเปล่า” นายไพศาล กล่าว


"ลุงป้อม" อาจไม่เอา "บิ๊กตู่"

ส่วนหากพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประวิตร ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะจับกับพรรคการเมืองใดนั้น นายไพศาล ระบุว่า พลังประชารัฐสามารถจับมือได้กับทุกพรรค ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถจับกับเพื่อไทย รวมถึงพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันได้แน่นอน และพรรคเพื่อไทยไม่จับกับพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นกัน มีแค่ 2 พรรคที่จะจับกับรวมไทยสร้างชาติได้ คือ ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้จะได้คะแนนเยอะ แต่ถ้าไม่ได้เกิน 376 เสียงก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพื่อไทยอาจจะมาจับกับพลังประชารัฐ โดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.เลย และเชื่อว่าน่าจะมีภูมิใจไทยมาร่วมอีกพรรคหนึ่ง เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร สนิทสนมกัน ถ้าทั้ง 3 พรรคจับกันจะเป็นรัฐบาลที่แข็งแรงมาก มีเสียงเป็นเอกฉันท์โดยไม่ต้องสนใจเสียง ส.ว.

“ถ้าลุงป้อมได้เป็นนายกฯ จะเอาลุงตู่มาร่วมหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เพราะที่ผ่านมา ตอนลุงตู่เป็นนายกฯ ลุงป้อมเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ลุงป้อม ถูกนายกฯ ยึดตำแหน่งไปหมด ลุงป้อมต้องอดทนแค่ไหน แกอายคนแค่ไหน ดูอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส.แค่ 5 คน ยังได้ตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วลุงป้อม เป็นถึงหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลแต่ ส.ส.ในสังกัดไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ถูกยึดเก้าอี้ไปหมด ทั้งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และเก้าอี้ รมว.แรงงาน ของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อยู่ๆ ก็มายึดอำนาจแก แกเคยดูกลาโหม (พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม ปี 2557-2562) ถูกยึดหมด ตอนนี้เป็นแค่ประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พล.อ.พัชรวาท ซึ่งเป็นน้องชาย ก็ถูกกระทืบ แล้วแกจะแบกเสลี่ยงให้นั่งอีกหรือ” นายไพศาล ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น