xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” เป็นผู้แทนไทยเซ็น MOU สหราชอาณาจักร พัฒนาจีโนมิกส์ พุ่งเป้าวิจัยกลุ่มโรควินิจฉัยหายาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย รมว.สธ. เป็นผู้แทนประเทศไทยลงนามความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร พัฒนาด้านจีโนมิกส์ พุ่งเป้าวิจัยกลุ่มโรควินิจฉัยหายาก มะเร็ง โรคติดเชื้อ สนับสนุนการให้บริการและส่งเสริมเป้าหมายศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย

วันนี้ (20 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 66 เวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ซึ่งในการนี้ Lord Nick Markham CBE รมช.สาธารณสุขและการดูแลทางสังคม ได้เป็นผู้แทนลงนามในฝ่ายของสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การลงนามได้มีขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคม สหราชอาณาจักร โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วม ฝ่ายไทยมีผู้เข้าร่วม อาทิ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ทางด้านสหราชอาณาจักรมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม, National health services (NHS), Genomics England, National health services (NHS),UK Health Security agency, และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

นายอนุทิน กล่าวว่า MOU ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ทางการแพทย์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งภายใต้ความร่วมมือจะมุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยโรคหายาก มะเร็ง เภสัชพันธุศาสตร์ โรคไม่ติดต่อ และโรคติดเชื้อ

สำหรับรูปแบบของความร่วมมือ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนในการศึกษาดูงาน การประชุมเกี่ยวเนื่องที่สำคัญ การอบรม และจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ด้านจีโนมิกส์ และการพัฒนาฐานข้อมูลพันธุกรรมของประเทศ

“ความร่วมมือของ 2 ประเทศ จะนำไปสู่การหาทางออกสำหรับความท้าทายทางสุขภาพที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วน ด้วยเป้าหมายในการใช้จีโนมิกส์วินิจฉัยผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการค้นพบวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบริการด้านจีโนมิกส์ในประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมเป้าหมายที่ไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่สำคัญของโลกด้วย” นายอนุทิน กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังการลงนามผู้บริหารจากไทยและสหราชอาณาจักร ยังได้หารือในประเด็นทางการแพทย์และการวิจัยที่อาจขยายความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือทางสาธารณสุขในมิติอื่นๆ ระหว่าง 2 ประเทศ อาทิ Health innovations, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาเซียนโดยจะมีไทยเป็นประเทศนำร่อง

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจีโนมิกส์ คือ การค้นคว้าหากลุ่มยีนหรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต เพื่อหารูปแบบการทำงานของยีน ความสัมพันธ์ของยีนกับสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ได้ให้ความสนใจต่อการวิจัยเกี่ยวกับการแสดงออกของยีนที่มีผลต่อการก่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคหายาก โรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาโรคที่แม่นยำ


กำลังโหลดความคิดเห็น