รองนายกฯ อนุทิน โชว์วิสัยทัศน์บนเวที World Economic Forum ยกบทบาทอาเซียนพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของประชาคมโลก พร้อมเผยศักยภาพไทยบริหารโควิด-19 หนุนประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกชาติแบบไม่เลือกปฏิบัติ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 66 ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมในหัวข้อที่หลากหลายภายในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) และได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ความสำเร็จทางนโยบายของประเทศไทย
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้รับเชิญให้ร่วมเวทีแสดงมุมมองรัฐบาลไทยในการประชุมหัวข้อ “The Pulling Power of ASEAN” โดยมีผู้ร่วมเวทีจากทั้งภาครัฐและเอกชนภายในและนอกอาเซียน ได้แก่ นาง Merit Janow ประธานกรรมการอิสระ มาสเตอร์การ์ด, นาย Luhut B. Pandjaitan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน อินโดนีเซีย และ นาง Teresita Sy-Coson รองประธานกรรมการ SM Investment Corporation ฟิลิปปินส์
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ได้กล่าวท่ามกลางความสนใจของที่ประชุมต่อภูมิภาคอาเซียน ว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีจุดแข็งของตัวเองและมีจุดร่วมสำคัญความสามารถในการปรับตัว อาเซียนเคยเป็นและจะยังคงเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มีที่ตั้งอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีน และนโยบายอินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ แม้จะมีความตึงเครียดในภูมิภาค แต่ความสามารถในการปรับตัว และนโยบายที่ไม่แทรกแซงระหว่างกัน จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาเซียน
รองนายกรัฐมนตรียังได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นถึงความร่วมมือที่แนบแน่นของอาเซียนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จนเป็นภูมิภาคที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็ว และได้มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACHPEED) ขึ้นที่ประเทศไทย ด้วยตระหนักว่า หากในภูมิภาครับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพได้ดีเท่าไร เศรษฐกิจก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้น เพราะไทยและอีกหลายประเทศในอาเซียน คือ ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก และขณะนี้อาเซียนกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ BCG Model ตามที่ได้กล่าวไว้ที่ประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา นั่นคือ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้อาเซียนคงเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับประชาคมโลก
นายอนุทิน ได้กล่าวถึงโครงการสำคัญที่อยู่ในแผนของประเทศไทย อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมการขนส่งระหว่างทะเลอันดามัน และอ่าวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการขนส่งสินค้าทางทะเลไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง และพื้นที่ตามแนวแลนด์บริดจ์จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีโอกาสมากมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ได้มีข้อคำถามจากที่ประชุม ว่า ประเทศไทยมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจจะกลับมากระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบในเวทีว่าประเทศไทยเรียนรู้การรับมือกับโควิด-19 เรียนรู้ลักษณะการแพร่ระบาด รูปแบบการควบคุมและสร้างภูมิคุ้มกัน วางแนวทางจัดการ หากโควิดระบาดนอกเหนือจากกรอบที่วางไว้ เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันระบบสาธารณสุขก็ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง
รองนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า การให้วิทยาศาสตร์เป็นตัวนำมาตรการทางสาธารณสุขและแผนงานที่ชัดเจน ทำให้ไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกชาติจากทั่วโลกได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ เห็นได้จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. เป็นต้นมา ซึ่งแน่นอนการดำเนินนโยบายนี้อาจสร้างความกังวลจากภาคส่วนต่างๆ แต่ในระดับนโยบายแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันดูแล 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยดูแลทั้งด้านสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจได้อย่างสมดุล ซึ่งนั่นจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดต่อโมเมนตัมทางเศรษฐกิจไทยให้ดำเนินต่อไปได้แม้จะยังมีภัยคุกคามด้านสุขภาพต่างๆ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมประชุมเวที WEF ในวันที่ 18 ม.ค. 66 แล้ว นายอนุทิน และคณะ ได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ระหว่าง Genomics Thailand และ Genomics England ต่อไป