ส.ส.ก้าวไกล เผย ไม่เคยเห็นศาลไต่สวนเพิกถอนประกันตัว “ตะวัน” ด้วยตนเอง โดยพนักงานสอบสวน-อัยการ ไม่ร้องขอ ถามผู้พิพากษาเหมาะสมหรือไม่ ศาลเป็นเครื่องมือใคร
วันนี้ (18 ม.ค.) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภา ถึงกรณี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่วงษ์ นักกิจกรรม 2 คนถอนประกันตนเอง
นางอมรัตน์ ตั้งข้อสังเกตกรณีศาลอาญาสั่งเพิกถอนการประกันตัวเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ ทานตะวัน โดยประเด็นสำคัญ คือ อัยการโจทก์แถลงว่าไม่เคยทราบรายละเอียดในการยื่นถอนประกันครั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นถอนประกันครั้งนี้
“ผู้พิพากษาศาลอาญาได้ทำตัวเป็นผู้ไต่สวนเพิกถอนสัญญาประกันตัวของนางสาวทานตะวันด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้ใดร้องขอ” นางอมรัตน์ ตั้งคำถาม ดังนี้
1. มีความเหมาะสมและบังควรจะกระทำหรือไม่ หากยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาที่ดี ?
2. ศาลทำตัวเป็นเครื่องมือของใครหรือไม่ ?
นางอมรัตน์ อ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่า ประมวลกฎหมายไทยใช้ระบบกล่าวหา ไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนประกันด้วยตนเอง แต่แม้จะมีข้ออ้างใดว่าสามารถทำเองได้ ก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่จะใช้วิธีการไต่สวนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย ในทางกฎหมายต้องใช้ในทางที่เป็นคุณต่อจำเลย ไม่ใช่เป็นโทษต่อจำเลย
นางอมรัตน์ แถลงย้อนถึงเงื่อนไขการประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ว่า เงื่อนไขเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นเงื่อนไขที่คอยควบคุมและติดตาม อย่างการติดกำไล EM เพื่อปกป้องผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาแต่อย่างใด
“ตะวัน ระบุว่า การขอถอนประกันตนเองในครั้งนี้ เป็นไปด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ในฐานะผู้แทนราษฎรจึงขอฝากดังๆ ไปยังผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบคดีการเมือง หวังว่า เสียงจะดังไปถึง เพื่อตระหนักว่าเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมให้คนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้มีอำนาจ” นางอมรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย