ท่าจะเหลว! “ไพศาล” เชื่อ แรงต้านสูง แก้ รธน. ม.158 ไม่จำกัดอายุนายกฯ 8 ปี “แม่ยก ปชป.” ค้านสุดลิ่ม ยกเหตุอยู่นานผลประโยชน์ทับซ้อน “สมชัย” ซัด ฉลาดหรือโง่ ชี้จุดมุ่งหมายเสริมกระแส “ลุงตู่” เตือนผลทางลบ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 ม.ค. 66) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Paisal Puchmongkol ระบุว่า
“แผนแก้รัฐธรรมนูญให้ประยุทธ์อยู่ต่ออีกไม่มีกำหนดทำท่าจะเหลว!!!!
~ทันทีที่ปรากฏข่าว ส.ว. กลุ่มเชียร์ยอมรับว่า กำลังเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 158 ให้ พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ไม่มีกำหนด
ได้ปรากฏผลสะเทือนทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
~มวลชนทุกสายแสดงท่าทีตรงกันอย่างรุนแรงโดยไม่ต้องบอกว่าเขาจะเอาด้วยหรือต่อต้าน!!!
~สำหรับพรรคการเมืองนั้น พรรคก้าวไกลประกาศต่อต้านก่อนเพื่อน ตามมาด้วย แกนนำรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐเรียงแถวประกาศคัดค้านและต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้จนถึงที่สุด!!!!
ตามมาด้วย หมอระวี ที่เคยเป็นมืองานคนดัง ออกมาต่อต้านค่อนข้างจะรุนแรง
~สัปดาห์หน้าคงจะเรียงหน้าออกมาเป็นเทือก โดยเฉพาะการจับตามอง “พรรคย่องตอด”
ที่เหยียบเรือสองแคมอยู่ทุกสถานการณ์ สังคมจะไม่ปล่อยให้ลอยนวลอีกแล้ว
ในขณะที่สังคมกำลังจับตาดูด้วยว่า พลเอก ประยุทธ์ จะว่าอย่างไร จะปิดฝาบาตร หรืออ้าฝาบาตร ให้เขาชงมาใส่บาตรต่อไป
~ก็บอกไว้แล้วไง ว่า การแก้มาตรา 158 จะทำให้หัวหน้าพรรคทุกพรรคเป็นแค่ “คนแบกเสลี่ยงให้ท่านขุนนั่งเอาตีนขยี้หัว” ไปไม่มีที่สุด และอาจทำให้คนกลัวเสือจนได้ ส.สไม่ถึง 12 คน
ก็ระวังให้จงดีเถิด
#นับถอยหลังการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ แม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kanjanee Valyasevi ว่า
“ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ส.ว.บางกลุ่มที่คิดจะปลดล็อก 8 ปีนายกฯ พูดง่ายๆ คือ จะแก้ รธน.เพื่อให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯต่อ หลังกฎหมายให้เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 8 ปี เพราะผลเสียมีมากกว่าดี
เช่น 1. ต่อไปนักการเมืองที่เป็น รบ. อยากแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ตนก็จะเอาอย่างบ้าง 2. การอยู่ในอำนาจนานๆ ย่อมเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน #ฉันไม่เชื่อว่าประยุทธ์บริสุทธิ์ผุดผ่อง 3. บ้านเมืองวุ่นวายเพราะไม่ได้รับการปฏิรูป ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองยังแตกแยก การเมืองถอยหลัง มีการโกงกินมหาศาล แต่องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบเลือกปฏิบัติ #ดังนั้นประยุทธ์ควรไป”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ระบุว่า
“ฉลาดหรือโง่
เปิดประเด็น แก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ เกิน 8 ปี
การเปิดประเด็นแก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปีได้ ทั้งๆ ที่เวลาที่เหลืออยู่ของสภาผู้แทนฯ ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการพิจารณา
1. ใครๆ ก็รู้ว่า สภาผู้แทนฯ จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากนั้น แม้มีวุฒิสภา แต่ก็ไม่สามารถประชุมใดๆ ได้จนมีสภาผู้แทนชุดใหม่
2. การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น ส.ว.ไม่มีสิทธิกระทำตามลำพัง
3. การเปิดประเด็นในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ทำไม่ได้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมกระแส นายประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง ว่า เลือกฉันสิ ฉันไม่ได้อยู่แค่สองปีนะ เดี๋ยวก็แก้ให้ฉันอยู่ไม่มีกำหนดได้ เพราะฉันเป็นคนดี
4. แต่คนจุดประเด็นสร้างกระแส อาจลืมไปว่า จะมีผลในทางลบ สร้างความไม่พอใจแก่คนอีกจำนวนมาก ว่า แค่นี้เอ็งยังไม่พออีกหรือ 8 ปีที่แปดเปื้อนยังไม่พอ ยังจะแก้กติกาเพื่อตัวบุคคลโดยเอาหน้ากากคนดีมาใส่อีก และจะทำให้การตัดสินใจเลือกตั้งเป็นไปในทางตรงข้าม ยิ่งถล่มทลายมากขึ้น
เชิญชวน ส.ว. ทั้งหลายออกมาพูดสนับสนุนกันเยอะๆ เลยครับ พ่อคนฉลาด”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวสั้นๆ ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอประเด็นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 โดยไม่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ว่า “ไม่เกี่ยวกับผม”
นอกจากนี้ วันเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เปิดเผยว่า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ มีแนวคิดกำลังจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นนายกฯ ได้ครบวาระ 4 ปี ว่า
ประเด็นนี้เป็นเรื่องของการเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ซึ่งมีอยู่ 5 หัวข้อใหญ่ โดยหนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ว่า มีข้อที่ต้องพัฒนาแก้ไขอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเป็นหัวข้อเดิมหลักของการรายงานในสภาอยู่แล้ว สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ สถาบันพระปกเกล้า ที่จะเสนอมาหลายประเด็น แต่ทาง กมธ. จะพิจารณาว่ามีประเด็นอื่นอีกหรือไม่
“เมื่อดูแล้ว ทาง กมธ. จึงเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญเดิมก่อนฉบับ พ.ศ. 2550 ไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ปัจจุบันเมื่อเรามาศึกษาดูพบว่า การกำหนดเวลา 8 ปี ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะบางประเทศยอมรับเสียงประชาชนเป็นผู้กำหนด
ดังนั้น ใครจะเป็นนานเท่าไหร่ หรือจะเป็นนานกี่ครั้ง อยู่ที่เสียงประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปกำหนด 8 ปี ยกตัวอย่างจีน ที่สีจิ้นผิง ตอนแรกให้ 2 สมัย แต่ตอนนี้ให้ 3 สมัย ไม่ใช่เป็นกฎตายตัว เราจึงเห็นว่า เมื่อมีข้อเสนอจะแก้ไขเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ใช้กับทุกพรรคการเมือง เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า ใครจะชนะเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่าจะแลนด์สไลด์ แล้วจะมาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่า พรรค พท. คิดจะเป็นฝ่ายค้านตลอดหรืออย่างไร ตอนนี้พรรค พท. กลัว พล.อ.ประยุทธ์ ไปเองหรือเปล่า”...
แน่นอน, หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ เป็นนักการเมืองอาชีพ ก็มีกระแสนี้ออกมา จึงดูเหมือนจะเข้าทำนอง “หวังดี ประสงค์ร้าย” เพราะผลทาง “ด้านลบ” น่าจะรุนแรงกว่า “ด้านบวก”
เพราะอย่าลืม ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีแล้วหรือยัง ปรากฏว่า กระแส “ประยุทธ์พอแล้ว” พุ่งสูง
ตามมาด้วย “ประยุทธ์ขาลง” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ยังอยู่ไม่ครบ 8 ปี โดยชี้ด้วยว่า เหลือประมาณ 2 ปี เนื่องจากมีกระแสต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และทำให้กระแสนิยม “พรรคฝ่ายค้าน” พุ่งสูงตามมาด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดสะท้อนความต้องการของประชาชน เกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯ และรัฐบาล ดังนั้น การเสนอแก้ รธน.เรื่องนี้ ท่ามกลางกระแสที่ต้องการเปลี่ยนแปลง จึงง่ายที่จะเกิดกระแสต่อต้าน และไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต่อให้ไม่รู้เห็นเป็นใจกับข้อเสนอของ ส.ว. แต่ก็หลีกไม่พ้น เป็นคนที่ได้ผลประโยชน์เรื่องนี้นั่นเอง