xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” จี้ รัฐเร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพง บี้แจงที่ค่าบริการรายเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง จี้ รัฐเร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพง บี้แจงที่ค่าบริการรายเดือน ด้าน “สุพัฒนพงษ์” แจง เป็นต้นทุนการบำรุงรักษามิเตอร์

วันนี้ (5 ม.ค.) นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง ถาม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ว่า รัฐธรรมนูญหมวด 5 มาตรา 56 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐจะทำการใดๆ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 50 จะกระทำไม่ได้ และการเรียกเก็บจะให้เป็นภาระต่อประชาชนไม่ได้ ประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเป็นธรรมเสมอภาค ซึ่งค่าบริการรายเดือนในบิลค่าไฟ จำนวน 38.22 บาท ในรายละเอียดบอกว่าเป็นค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ และค่าจัดส่งเอกสาร ทั้งที่ ประชาชนจ่ายค่ามิเตอร์ไปแล้ว เงินประกันก็อยู่ที่การไฟฟ้าแล้ว ส่วนบิลเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานจะต้องทำบิลส่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบมิเตอร์ในประไทยมีประมาณ 50 ล้านมิเตอร์ คิดเป็นเงินจำนวน 1,911 ล้านบาทต่อเดือน ที่ประชาชนจะต้องจ่าย ตนถามว่า ค่าบริการรายเดือนดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการไม่ให้มีได้อย่างไร เพราะไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการเก็บค่าบริการเกินควร นอกจากนี้ ตนอยากเห็นตัวเลขโครงสร้างพลังงานว่ามีเกินความจำเป็นเท่าไหร่ และในระยะเร่งดวน มีแนวทางลดค่าไฟฟ้าให้ยั่งยืนได้อย่างไร

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ค่าบริการรายเดือนเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ และคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟ นอกจากนี้ ในส่วนของมิเตอร์จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแล ถ้ามิเตอร์เสีย การจ่ายไฟจะได้รับผลกระทบ จึงต้องมีการบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้มิเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว ซึ่งส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายจึงมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านสอบถามมาตนจะสอบถามให้อีกครั้ง และอาจให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เชิญคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาชี้แจง เพราะมีหน้าที่ดูแลอัตราค่าบริการที่เหมาะสม

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกำลังการผลิตที่เกินความจำเป็นนั้น เชื่อว่าปีนี้ ตัวเลขจะต่ำกว่า 30% ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการดึงดูดอุตสาหกรรมต่างต้องมีความพร้อมเรื่องไฟฟ้า กำลังการผลิตสำรองต้องสร้างความมั่นใจว่าเปิดปุ๊บติดปั๊บ ต้องชมการไฟฟ้าที่ช่วยกันรักษาคุณภาพการให้บริการ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับต้นๆ เราน่าจะเป็นลำดับสองของภูมิภาคนี้รองจากสิงคโปร์ ดังนั้น เราต้องมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายไฟ ส่วนโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการผลิตเลยนั้น ต้องไปดูด้วยว่าอยู่ในแผนที่เราจะปลดระวาง และเพิ่มพลังงานสะอาดใส่เข้าไปหรือไม่ ขณะที่ การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน เราให้ความสำคัญ และเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน โดยพยายามหาช่องทางว่าจะรักษาอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มเปราะบาง และใช้ไฟไม่มากได้อีกหรือไม่ อยากให้สบายใจว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน พยายามหาช่องทางลดหรือแก้ปัญหาอยู่ตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น