เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม ไฟฟ้า ประปาและยา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สร.กฟผ. รวม 133 องค์กรตบเท้ายื่นหนังสือถึง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเสนอ 5 แนวทางพร้อมกลับมาทวงคำตอบหลังปีใหม่แล้ว
วันนี้(22ธ.ค.65 ) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายไฟฟ้า ประปาและยา เพื่อชาติและประชาชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และสหาภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) รวม 133 องค์กรได้ยื่นหนังสือและแถลงการณ์ร่วมเพื่อขอให้กระทรวงพลังงานแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงตามเจตนารมณ์ของกฏหมายรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงานทำหน้าที่รับหนังสือแทนนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายทั้ง 133 องค์กรได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง 5 ข้อหลักโดยจะกลับมาขอรับคำตอบถึงแนวทางดำเนินงานหลังปีใหม่หรือไม่เกินเดือนม.ค.66นี้
“ เราก็ทราบมาว่าทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เองก็กำลังจะขอหารือกับนายกรัฐมนตรีถึงปัญหาค่าไฟฟ้าแพงซึ่งหากท่านหารือกับเอกชนได้ทางเครือข่ายเราก็อาจจะต้องเข้าไปพบเช่นกัน”น.ส.รสนากล่าว
สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อได้แก่ 1. ขอให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) กับผู้ใช้ไฟทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน ธุรกิจและภาคเกษตรกรรม 2. ขอให้หยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งหมดทั้งในประเทศและการนำเข้าจากสปป.ลาวซึ่งขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบทำให้สัดส่วนการผลิตของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง 3.ให้รัฐบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติโดยให้บมจ.ปตท.จัดหาและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน
4.ทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อเอกชนลักษระมีค่าความพร้อมจ่ายภายใต้เงื่อนไข “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย”และ5.เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน(โซลาร์รูฟท็อป) และใช้ระบบการคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย(Net Metering) ในการรับซื้อไฟส่วนเกินจากเหลือใช้งาน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภองค์กรของผู้บริโภคกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสภาฯได้เคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟแพงตั้งแต่มี.ค.65 แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจนทำให้ค่าFt ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปี2566 ค่าไฟเฉลี่ยรวมจะสูงขึ้นเป็น 5-6 บาทต่อหน่วยเครือข่ายจึงเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศจึงต้องการให้รัฐแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“การที่Ftงวดม.ค.-เม.ย.66 รัฐตรึงค่าไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัย แต่อื่นๆ ล่ะ ร้านค้าโชว์ห่วย ธุรกิจน้อยใหญ่ จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ เราจึงต้องมากระตุ้นเตือนว่ารัฐควรกลับมานั่งคุย ซึ่งเข้าใจว่าราคาพลังงานส่วนหนึ่งแพงเพราะปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนแต่มีหลายปัจจัยที่เป็นการบริหารจากภายในและย้อนกลับมาสู่ที่ว่ารัฐได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี ’60 หมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐมาตรา 56 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดหาหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วหรือไม่”นายอิฐบูรณ์กล่าว
นายชุมพล ชูมงคล เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.)กล่าวว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ถูกบอนไซจากรัฐไปให้เอกชนจนทำให้สัดส่วนการผลิตของกฟผ.เหลือไม่ถึง 51% ตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 51 ซึ่งประเด็นดังกล่าวขณะนี้กำลังรอการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญ
“ กำลังผลิตของกฟผ.มีไว้เพื่อแบ่งเบาภาระราคาให้กับประชาชนแต่วันนี้กลับถูกรัฐดำเนินการทุกกรณีเอื้อให้กลุ่มทุนพลังงานโตขึ้น ภาระเหล่านี้ตกกับประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัยจึงต้องมาทวงความเป็นธรรม ถ้ารัฐทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเองแล้วประชาชนจำเป็นต้องลุกมาต่อสู้อีกครั้ง”นายชุมพลกล่าว