ลุ้น กกพ.วันนี้ถกทบทวนค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม จากเบื้องต้นตัวเลขเฉลี่ยค่าไฟจะขยับเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย มีลุ้นลดลงอีก 40 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังต้องรอตัวเลขหนี้ กฟผ. ด้าน ส.อ.ท.ผิดหวังรัฐมีแต่โยนภาระ กฟผ.-ปตท. ไม่แก้ต้นเหตุจริง วอนดึง 5 ข้อ กกร.แก้ไข
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 ธ.ค. คณะกรรมการ กกพ.จะประชุมทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ประเภทอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะลดลงได้อีกประมาณ 40 สต. จากเดิมที่ค่า Ft ต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย
โดยค่าไฟที่ลดลงจะมาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ จำนวน 20 สตางค์แรกมาจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซล ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 20 สตางค์รอตัวเลขการจ่ายหนี้สะสมของ กฟผ. จากเดิมต้องจ่ายให้ กฟผ. 33 สตางค์ต่อหน่วยว่า กฟผ.จะรับคืนลดลงได้เท่าไร เช่น รับคืนก่อนครึ่งหนึ่ง หรือ 16-20 สตางค์ต่อหน่วย รวมแล้วก็จะลดได้ประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการค่าไฟฟ้ารู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่กระทรวงพลังงานชี้แจงออกมา เช่น ให้เอกชนบางส่วนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตให้มีการใช้ลดลงเพื่อลดนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้วหันไปใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทนเป็นการชั่วคราว ซึ่งกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลาไม่สามารถทำได้ทันที ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำเสนอแต่อย่างใด
“เอกชนยังคาดหวังว่าค่าไฟฟ้าควรจะลดต่ำมากกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย เพราะความหวังภาคธุรกิจคือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตามที่ กกร.ได้เสนอไป 5 แนวทาง แต่ผลลัพธ์หากออกมาเป็นอย่างไรก็คงจะต้องยอมรับเพราะต้องการให้เกิดการทำงานเชิงรุกมากกว่า ส่วนพอใจหรือไม่เราก็คงไม่พอใจหากการแก้ไขยังคงไม่ใช่แนวทางการแก้ที่ตรงต้นเหตุ” นายอิศเรศกล่าว
สำหรับแนวทางแก้ไขตาม 5 ข้อที่ กกร.เสนอ เช่น ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของโรงไฟฟ้าเอกชนควรจะปรับตัวลงบ้างหรือไม่ ซึ่งรัฐมักจะไม่พูดถึงประเด็นนี้เลย ทั้งๆ ที่ภาครัฐมีเครื่องมือ ทั้งนโยบาย กฎหมายและการกำกับดูแล แต่เลือกสั่งแต่ กฟผ. เพราะอยู่ภายใต้กำกับ จนไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว ส่วนภาระหนี้ กฟผ. กระทรวงการคลังควรเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การงดส่งเงินเข้าคลัง การออกบอนด์ เพื่อระดมเงินทุนจากประชาชนแล้วเพื่อมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. หรืออื่นที่จะไม่เป็นการนำภาระมาไว้ในค่าไฟฟ้า และที่ผ่านมาเอกชนยืนยันว่าได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงพลังงาน 4-5 ฉบับแต่ไม่เคยเปิดช่องให้หารือ