มหาดไทย ปัดลดภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ให้ 8 โรงแรม/รีสอร์ท ชื่อดังเกาะคอเขาพังงา ร้อยละ 10-40 ตามคำขอ หลังกระทบโควิด-19 อ่วม! เหตุปี 65 ไม่ได้มีการตรา พ.ร.ฎ. ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้กับภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบ ย้ำ! 8 ผู้ประกอบการ ต้องชำระภาษี แต่ได้อานิสงค์ มท.1 สั่งขยายเก็บภาษี ออกไปอีก 3 เดือน
วันนี้ (2 ม.ค.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฎิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย
เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศทราบ และถือปฏิบัติ
ถึงประเด็นการพิจารณาการปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ค. 2562
ตามความเห็นของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดพังงา กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เกาะคอเขา เสนอขอความเห็นชอบให้พิจารณาปรับลดภาษี ตามคำร้องขอของผู้ประกอบกิจการโรงแรม 8 ราย
"มท.เห็นตาม คณะกรรมการ จ.พังงา ว่าไม่เข้าลักษณะหลักเกณฑ์การขอลดและยกเว้นภาษี ตามมาตรา 56 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562"
เนื่องจากกรณีการขอปรับลดดังกล่าว เป็นเหตุเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นการขอปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะต้องกระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการโรงแรมทั้ง 8 ราย จึงต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราภาษีที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
มีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ยกข้อหารือ เนื่องจากการขอปรับลดภาษีเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 เป็นการขอปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็น ทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ หรือสภาพแห่งท้องที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประซาซนโดยรวม ซึ่งสามารถทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
แต่เนื่องจาก ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ไม่ได้มีการตรา พ.ร.ฎ. ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่เข้าหลักเกณฑ์ การขอลดและยกเว้นภาษี ตามมาตรา 56 และมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แถมที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลาย รื้อถอน
"ถึงจะกำหนดให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับการลดหรือยกเว้นภาษี ในกรณีที่มีเหตุพ้นวิสัย ที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป หรือเหตุอันทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายหรือทำให้สิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนหรือทำลาย หรือชำรุดเสียหาย จนเป็นเหตุให้ต้องทำการซ่อมแซม ในส่วนที่สำคัญ"
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนผู้เสียภาษี ให้ผู้เสียภาษี มีเวลาชำระภาษีมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ลงนามในประกาศกระทรวงฯ เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการ ออกไปอีก 3 เดือนแล้ว
ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการโรงแรมทั้ง 8 ราย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
มีรายงานด้วยว่า ผู้ประกอบกิจการโรงแรม 8 ราย ที่มีที่ตั้งใน อ.ตะกั่วป่า ได้ยื่นคำร้อง อบต. เกาะคอเขา ขอให้พิจารณาปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลงให้เหลือร้อยละ 10- ร้อยละ 40 เนื่องจาก 2 ปีที่แล้วมา โรงแรมไม่สามารถเปิดกิจการได้
ประกอบด้วย บริษัท เกาะคอเขาโกลเด้นรีสอร์ท จำกัด , บริษัท เดอะซันเซ็ทบีซ รีสอร์ท เกาะคอเขา จำกัด ,ผู้ประกอบการ เดอะซันเซท
ผู้ประกอบการโรงแรม อมันดารา บีช รีสอร์ท ,บริษัท อตามัน จำกัด ,บริษัท โกลเด้นท์ พาเลซ ภูเก็ต จำกัด และ บริษัท ไรย์แลนด์ เขาหลัก จำกัด (โรงแรมเกาะคอเขารีสอร์ท).